ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร ปูทางสู่การค้าเสรี
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่21 มิถุนายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมของการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย – สหราชอาณาจักร ครั้งที่4 (4th Session of Thailand – United Kingdom Strategic Dialogue: SD) ซึ่งจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรเป็นเจ้าภาพ
ร่างแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองในการส่งเสริมและขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างสองประเทศในสาขาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ
1.ด้านการต่างประเทศ อาทิ 1) จัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตระหว่างสองประเทศ 2) ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดผ่านเวทีพหุภาคี
2.ด้านเศรษฐกิจ เช่น 1) ร่วมมือกันจัดการกับอุปสรรคทางการค้า 2) พัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าระดับสูง (Enhanced Trade Partnership: ETP) ซึ่งเป็นการวางรากฐานสู่การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และ 3)รับทราบแผนการขยายความร่วมมือทางวิชาการในสาขาการเงิน
3.ด้านความมั่นคง เช่น 1) จัดบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร 2)ความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงทางทะเลของทั้งสองประเทศ เพื่อปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยของท่าเรือพาณิชย์หลักของไทย
4.ด้านสาธารณสุข อาทิ พัฒนาข้อเสนอการจัดทำตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยโรคระบาดผ่านกลไกการเจรจาระหว่างรัฐภายใต้องค์การอนามัยโลก และความร่วมมือด้านสาธารณสุขในสาขาต่าง ๆ
5.ด้านการศึกษา อาทิ ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนด้านการอุดมศึกษา โดยแลกเปลี่ยนการวิจัยระหว่างกัน
6.ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ 1) ร่วมกันหาแนวทางจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) 2) สหราชอาณาจักรสนับสนุนไทยในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065
7.ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและดิจิทัล อาทิ สนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาคเอกชน สถาบันวิจัยและสถาบันอุดมศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนและพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม(Science Technology and Innovation: STI)
8.ด้านอาเซียน อาทิ กระชับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหราชอาณาจักร และร่วมกันทำงานเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติต่อวิกฤตในเมียนมา
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก ยังเปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่21 มิถุนายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการใช้เช็คในการทำธุรกรรม และกำหนดให้การใช้เช็คที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงเป็นการกระทำความผิดทางอาญา
โดยกำหนดความผิดสำหรับการใช้เช็คที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะที่เป็นการหลอกลวง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำหนดหลักการให้พึงกำหนดโทษทางอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง
และไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในข้อ 11 ที่กำหนดให้บุคคลจะถูกจำคุกเพียงเพราะเหตุว่าไม่สามารถปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาไม่ได้ ประกอบกับปัจจุบันระบบการชำระเงินของประเทศได้มีการพัฒนาเครื่องมือที่หลากหลาย เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต และระบบโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว ทางกระทรวงยุติธรรมจึงเสนอยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าว ทั้งนี้ จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
นางสาวรัชดากล่าวต่อว่า เมื่อมีการยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 แล้วหากเกิดกรณีที่ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คโดยไม่มีเจตนาทุจริต แต่เช็คไม่สามารถขึ้นเงินได้ เช่น เงินในบัญชีของลูกหนี้ไม่เพียงพอ เจ้าหนี้สามารถฟ้องผิดสัญญาทางแพ่งเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ใช้เงินตามเช็คนั้น แต่ถ้าลูกหนี้มีเจตนาทุจริตเพื่อไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับเงิน อาจเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นได้ เช่น ความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews