ไฟไหม้สำเพ็งสูญ 30 ล้าน – กฟน.รอคุยเรื่องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น
นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมด้วย สภาวิศวกร , นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ร่วมตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ ย่านสำเพ็ง เมื่อวานที่ผ่านมา
นายธเนศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบความเสียหายแบ่งเป็น 2 ส่วน 2อาคารแรกที่เข้าไปเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กได้รับผลกระทบน้อยไม่เหมือนกับฝั่งซ้าย 2 หลัง ผนังอิฐบ่อแบบเดิมและเสริมโครงสร้างเหล็ก ที่อาจจะทำเป็นชั้นวางของในแต่ละชั้นเมื่อเจอความร้อนเหล็กเสียรูป โก่งตัวออก ข้อเสนอแนะ คือ ห้องที่เสียหายน้อย ควรจะเสริมกำลังอย่างไร ส่วน 2 ห้องซ้ายมือ ที่ได้รับความเสียหายมาก ทางวิศวกรรมก็คือจะต้องรื้อโครงเหล็กทั้งหมด จึงต้องพิจารณาว่าเป็นไปได้ว่ารื้อทั้งแผงและทำขึ้นมาใหม่แข็งแรงกว่าแต่ต้องปรึกษากับทาง กทม.
นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หลังจากเข้ามาดูพื้นที่แล้ว พบมีปัญหา 3 ห้อง โดย มี 2ห้อง ที่ อาจจะต้องทุบรื้อ ทั้งนี้ จะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่าจะเสริมกำลังกันตรงไหน ส่วนพื้นที่ บริเวณจุดเกิดเหตุ ต้องปิดและวางแผน กับทาง ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ กันอีกครั้งว่าจะดำเนินการรื้อถอนอย่างไร ส่วนที่ว่าอาคารมีการดัดแปลงโครงสร้างหรือไม่จากการตรวจสอบเบื้องต้นยังตอบไม่ได้ เพราะโครงสร้างพื้นเพดานกดทับลงมาทั้งหมด และจากการตรวจสอบพบว่า ชั้นที่ 2 ยังมีความร้อน และมีควันอยู่
ทางด้าน นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวยอมรับว่า หม้อแปลงบริเวณหน้าอาคารจุดเกิดเหตุมีปัญหา ซึ่งเมื่อช่วงเช้าวานนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์ ได้มีเจ้าหน้าที่ของ กฟน. เข้ามาตรวจสอบหม้อแปลงดังกล่าว แล้ว
แต่น่าจะมีปัญหาจากตัวหม้อแปลงดังกล่าว พร้อมระบุว่าปกติอายุการใช้งานของหม้อแปลงขนาดมาตรฐานจะอยู่ที่ประมาณ 20 ปี ซึ่งหม้อแปลงตัวนี้ใกล้จะครบวาระที่จะต้องเปลี่ยน แต่ก็เกิดเหตุขึ้นก่อน พร้อมกันนี้ ผู้ว่าฯ กฟน. แสดงความเสียใจ กับผู้เสียชีวิต ส่วนเรื่องของการเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้น จากไฟไหม้ครั้งนี้ จะต้องมีการเจรจากันในขั้นต่อไป
นางสาวอาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่ามีอาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 4 คูหา ซึ่งจากการประเมินมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท และยอมรับว่า ยังไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงแบบนี้ มีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย
ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญ โดยหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเร่งสำรวจสายไฟเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบจุดที่มีความเสี่ยงก็ให้แจ้งมายังสำนักงานเขตได้ รวมถึงจะเชิญการไฟฟ้ามาประชุมร่วมกันว่าให้ไปตรวจสอบว่าในพื้นที่ มีหม้อแปลงไฟฟ้าที่เก่าเกินอายุที่สมควร คือ มากกว่า 20 ปี หรือไม่ เพื่อดำเนินการซ่อมแซมต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews