Home
|
ทั่วไป

สธ.พบ4รายติดโควิด-19โยงตลาดคลองเตย

Featured Image
สธ.พบผู้ป่วยติดเตียง ใน กทม. ติดโควิด 19 ย้ำผู้ดูแลเข้มสวมหน้ากาก ช่วงเทศกาลตรุษจีน ผู้สูงอายุเลี่ยงไปซื้อของไหว้ แจกอั่งเปาออนไลน์

นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทยว่า บ่ายนี้มีรายงานพบผู้ป่วยติดเตียงเพศหญิงอายุ 95 ปี มีโรคประจำตัว โรคไต ความดันโลหิตสูง ติดเชื้อโควิด 19 จากผู้ดูแลชาวเมียนมา

ซึ่งขณะนี้พบการติดเชื้อ 4 ราย ข้อมูลสอบสวนเบื้องต้นอาจมีความเชื่อมโยงกับชุมชนตลาดคลองเตย ซึ่งเป็นสถานที่ตรวจพบการติดเชื้อเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จึงอาจมีความเชื่อมโยงจากกลุ่มนี้ รายละเอียดต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค ดังนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีโรคประจำตัว ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อ และขอให้นายจ้างที่ผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคเรื้อรังอยู่กับบ้าน และมีการจ้างแรงงานต่างชาติมาทำงาน ขอให้พาไปตรวจหาเชื้อ และกำชับควบคุมแรงงานต่างด้าวในช่วงนี้งดการเดินทางไปรวมกลุ่มกับเพื่อนเพื่อลดความเสี่ยง

นายแพทย์จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับช่วงเทศกาลตรุษจีน ในช่วงวันซื้อ/วันไหว้ ที่มีการพบปะหาสู่กันในหมู่ญาติ มี 3 ประเด็นที่ต้องระวัง คือ การไปซื้อของที่ตลาด มีผู้คนจำนวนมาก ขอให้สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ผู้สูงอายุผู้มีโรคประจำตัวขอให้อยู่กับบ้านและให้ลูกหลานไปซื้อแทน , การแจกอั่งเปาอาจใช้ระบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสร่วมซองอั่งเปาหรือเงิน

และการรวมญาติรับประทานอาหารด้วยกันที่บ้าน ขอให้มีการเว้นระยะห่าง งดดื่มสุรา เนื่องจากเป็นญาติและคนสนิททำให้การครองสติลดลง และลดการพูดคุยเสียงดัง ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการแพร่เชื้อในครอบครัวและนำไปสู่ครอบครัวอื่น ส่วนวันเที่ยวที่มีการไปสถานที่ท่องเที่ยวหรือไหว้พระไหว้เจ้า ขอให้หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีความแออัด ควรรอให้มีคนจำนวนไม่มาก หรือไปสถานที่อื่นที่ไม่แออัดแทน เมื่อเข้าไปแล้วมีการเว้นระยะห่างจากคนข้างหน้า และสวมหน้ากากตลอดเวลา

 

 

สธ.เผย ประชาชน “การ์ดเริ่มตก” หลังผ่อนปรน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเอง มีประชาชนร่วมตอบแบบสอบถาม 56,201 ตัวอย่าง และตอบแบบสอบถามออนไลน์ 7,243 ตัวอย่าง พบประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันตนเองในระดับที่ดีมาก ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ในเดือน ธันวาคม 2564 ส่วนการสำรวจครั้ง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 25-31 มกราคม 2564 หลังเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ พบ “การ์ดเริ่มตก” ในทุกกิจกรรม แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ ที่ดีโดยสวมหน้ากากอนามัยร้อยละ 93.7 การล้างมือบ่อยๆ ร้อยละ 88.4 การกินอาหารร้อนใช้ช้อนกลางส่วนตัว ร้อยละ 87.9 การเว้นระยะห่างระหว่างผู้อื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร ร้อยละ 77 มีการรวมกลุ่มทางสังคมและการเดินทางออกนอกจังหวัดเพิ่มขึ้น สำหรับการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการฉีดวัคซีน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์

ส่วนใหญ่คิดว่าการฉีดวัคซีน จะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลรอบข้างได้ ส่วนผลสำรวจจาก อสม. พบว่า เหตุผลที่อยากฉีดคือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพมีความเสี่ยงด้านอาชีพ และเห็นด้วยว่าบุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรกที่สมควรได้รับวัคซีน ทั้งนี้ ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งระบุไม่ต้องการฉีดวัคซีน เนื่องจากยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน ผลข้างเคียงจากการรับวัคซีน ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหรือป่วยอย่างรุนแรง สามารถป้องกันตัวเองดีแล้ว และไม่เชื่อว่าวัคซีนสามารถป้องกันโรคโควิด 19 ได้

ดังนั้น จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้ประชาชนมากขึ้น ส่วนการรับรู้เกี่ยวแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ”และ“หมอชนะ” ส่วนใหญ่รู้จักแต่ใช้งานอยู่ที่ร้อยละ 50 ปัจจัยที่เลือกใช้คือ มีการแจ้งเตือนระดับความเสี่ยง มีความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และใช้งานสะดวก

 

ศบค. กทม. ย้ำเจ้าของสถานประกอบการ โรงงานกำชับให้แรงงานใช้แอปฯ “หมอชนะ”

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ว่าการค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง (Sentinel Surveillance ) ของโรงงานในพื้นที่ 6 เขต ได้แก่ ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม บางบอน จอมทอง และบางขุนเทียน ปัจจุบัน (4 ก.พ. 64) ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 113 แห่ง แรงงานที่ผ่านการตรวจฯ รวม 13,042 คน พบผู้ติดเชื้อรวม 54 ราย ซึ่งขอให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอย่าได้วิตกกังวลเนื่องจากกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แยกตัวผู้ติดเชื้อนำไปรับการรักษาเรียบร้อยแล้ว แต่ขอให้ทุกคนดูแลรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ หรือน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการร่วมอยู่ในสถานที่มีคนอยู่หนาแน่นแออัด

นอกจากนี้ขอให้สถานประกอบการ รวมทั้งเจ้าของสถานที่ที่มีการใช้สอยร่วมกันหมั่นทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้สอยร่วมกัน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู

ทั้งนี้ ศบค.กทม. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานเขตที่ดูแลพื้นที่เสี่ยงโดยเฉพาะ 6เขต แจ้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงาน และเจ้าของสถานประกอบการในพื้นที่ กำชับให้แรงงานดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะ เพื่อประโยชน์ในการติดตามและสอบสวนโรค

รวมทั้งให้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานหากมีการจัดทำโรงอาหารภายในโรงงานให้เว้นระยะห่างระหว่างที่นั่ง และควรหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตลอดจนให้สำนักงานเขตทุกเขตกำชับผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตที่เป็นพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube