น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐที่ล่าสุดเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี
รวมถึงการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด วันที่ 27 ก.ค. ที่คาดว่าจะได้เห็นปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75 – 1% แน่นอนว่าปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวเชื่อมโยงมาถึงค่าเงินบาท ซึ่งในรอบนี้ “อ่อนค่า” สุดในรอบ 15 ปี 8 เดือน แตะ 36.73 บาทต่อดอลลาร์ฯ นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2549 โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางแรงหนุนที่แข็งแกร่งของเงินดอลลาร์ฯ
ทั้งนี้ มีการพูดถึงค่าเงินบาท มีโอกาสที่จะลงไปแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ มากสุดที่ 40 บาท ซึ่งแนวโน้มเงินบาทจะอ่อนค่าไปมากกว่านี้หรือไม่ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ ดร.สมชัย จิตสุชน คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ซึ่งเขามองว่า ค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะอ่อนค่ามากกว่าปัจจุบัน
ถ้าเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงๆ ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์ฯแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าลง แต่ไม่ขอฟันธงว่า เงินบาทจะอ่อนค่าลงไปมากสุดที่เท่าไร แต่อย่างไรก็ตาม ต้องติดตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึง กนง.ในการพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย
และเมื่อถามต่อว่า ปัจจัยเสี่ยงที่หนักที่สุดสำหรับเศรษฐกิจในเวลานี้ คือเรื่องใด “ดร.สมชัย” กล่าวว่า เป็นเรื่องเศรษฐกิจโลกถดถอย ทั้งจากสหรัฐอเมริกา และ ยุโรป แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว
ยอมรับว่า ไม่เหมือนกับประเทศอื่น เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า แต่ก็โชคดีตรงที่ว่า เรากำลังฟื้น แต่จะขึ้นได้เร็วแค่ไหน ก็ต้องติดตาม แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการก็คือ การเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงการเร่งลงทุน และการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
“เช่นการลงทุนของภาครัฐอะไรต่างๆ ก็ว่าไปตามงบประมาณ ซึ่งเผอิญงบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้ ก็ไม่ได้สูงมาก ตรงนี้สิ่งที่ทำได้ก็ต้องไปดูว่า ที่ค้างท่ออยู่ จะไปล้างท่อได้ไหม ที่โปรเจกต์ต่างๆ
ที่คุณค้างอยู่ แล้วเดินหน้าช้า ก็คงจะต้องพยายามให้เร็วขึ้น อันนี้ก็เป็นตัวที่ช่วยได้ และตัวที่สำคัญมากคือ การช่วยรายเล็ก รายน้อย ซึ่งจะดูแลตัวเองได้ไม่ค่อยดีนัก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โน้นนี่อะไรต่างๆ คงต้องมีมาตรการสไตล์นั้นมากขึ้น”
ขณะที่ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยในไทย เริ่มเห็นความท้าทายมากขึ้นทั้งจากค่าเงินบาทที่ล่าสุดอ่อนค่าเร็ว ?รวมถึงนักวิเคราะห์บางสำนักฯ คาดธนาคารแห่งประเทศไทยมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในเดือน ส.ค. 2565
ส่วนฝ่ายวิจัยฯยังคงคาดว่าจะเห็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ทุกรอบ ในการประชุม 3 รอบที่เหลือของปีโดยฝ่ายวิจัยประเมินหาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งกดดันเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,722 จุด แต่ ถ้าขึ้น 2 ครั้ง ดัชนีอยู่ที่ 1,643 จุด และถ้าขึ้น 3 ครั้งหรือทุกรอบการประชุม ดัชนีที่เหมาะสมอยู่ที่ 1,570 จุด
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามการวางหมากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของธนาคารแห่งประเทศไทย และ คณะกรรมการนโยบายการเงิน อย่างใกล้ชิด เพราะด้วยสถานการณ์โลกที่เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจย่อมมีความท้าทายเป็นอย่างมากนั้นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews