สอท.ชี้ปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ในระดับที่เหมาะสมแบบค่อยๆ ปรับ เพราะธุรกิจยังไม่ฟื้นตัว เงินบาทต้องไม่อ่อนค่าเกินไปเป็นภาระต้นทุนนำเข้า
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ”ภาคอุตสาหกรรมจะรับมือกับอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างไร” พบว่า จากอัตราเงินเฟ้อที่ระดับร้อยละ 7.6 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ซึ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง รวมทั้งปัจจัยภายนอกจากทิศทางของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ที่ส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยไปถึงระดับร้อยละ 3.4 ภายในสิ้นปีนี้
ทำให้มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศไม่ให้ห่างจนเกินไป จนไปกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนและค่าเงินบาท
โดย ส.อ.ท. เห็นว่า หากธปท.มีความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ควรพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจ ณ ขณะนั้น
รวมทั้งควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากบางธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่จากโควิด-19 เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) , การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้, มาตรการช่วยเหลือทางภาษีทั่วไป
ซึ่ง ส.อ.ท. คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ ปี 2566 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.75-1.00 เพื่อที่จะรักษาทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย ในส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่องนั้น มองว่า
ถึงแม้การอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยส่งเสริมขีดความสามารถด้านราคาในการส่งออกสินค้าไทย แต่อีกมุมหนึ่งก็ส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนพลังงาน สินค้าและวัตถุดิบที่ต้องนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า
ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการกำกับดูแลการเคลื่อนไหวค่าเงินบาท และมาตรการป้องปรามหรือจำกัดการเก็งกำไรค่าเงิน รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทและภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจควรอยู่ที่ระดับ 32 – 34 บาท ต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews