ขึ้นค่าไฟเพิ่มต้นทุน SMEs แบกอ่วม
สร้างแรงกระเพื่อมทันทีหลังมีข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.เตรียมปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ
หรือ ft งวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ค่ากระแสไฟฟ้า ปรับขึ้นมาใกล้เคียง 5.00 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นอัตราค่าไฟที่สูง แน่นอนว่าต้นทุนของทุกคนเพิ่มขึ้นทั้งประชาชน และผู้ประกอบการ
โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การปรับขึ้นค่า ft เป็นการปรับขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะมีการปรับทุก 4 เดือน ผู้ประกอบการทราบเรื่องนี้อยู่แล้ว
โดยค่า ft นั้น จะปรับขึ้นลงตามอัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมัน ซึ่งในปัจจุบัน ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และราคาน้ำมันมีราคาสูงขึ้น การปรับขึ้น ft จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้
อย่างไรก็ตาม หากปรับขึ้นจริงจะกระทบกับต้นทุนของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่าง ๆ รุมเร้ามากอยู่แล้ว ทั้งปัญหาเงินเฟ้อ ที่ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบมีราคาแพง ราคาพลังงานที่สูงขึ้น
กระทบต่อต้นทุนด้านการขนส่ง กำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง ส่งผลต่อรายได้ที่ลดลง อีกทั้งหลายๆสินค้าก็ยังถูกควบคุมราคา ดังนั้น การปรับขึ้นค่า ft ถือเป็นการเพิ่มปัญหาด้านต้นทุนให้มากขึ้น
ทั้งนี้ ยังคาดหวังว่าในช่วง 4 เดือนที่ปรับขึ้นค่า ft นั้น เศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีกำลังมากพอที่จะประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้
เชื่อว่าผู้ประกอบการจะพยายามปรับตัวและทนกับปัญหาครั้งนี้ได้ แต่จะต้องพยายามใช้ไฟฟ้าให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด และต้องปรับตัวอยู่กับต้นทุนพลังงานที่สูงเช่นนี้ให้ได้
โดยความสามารถในการแบกรับต้นทุนของแต่แห่งอาจมีไม่เท่ากัน ผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SMEs อาจจะทนแรงกระทบได้น้อยกว่า ทั้งนี้ หอการค้าฯ ได้ส่งสัญญาณดังกล่าวไปยังผู้ประกอบการให้เตรียมพร้อมรับมือ
และแนะนำให้มีการวางแผนการใช้พลังงานให้คุ้มค่าและช่วยกันประหยัดพลังงานให้มากที่สุดแล้ว ส่วนนี้จะช่วยบรรเทาผลกระทบในระยะสั้น
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ต้นทุนจากค่ากระแสไฟฟ้า
หากปรับตัวเพิ่มขึ้น จะไม่ได้เป็นต้นทุนเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ภาคประชาชนและโรงงานขนาดเล็กก็ได้รับผลกระทบด้วย ธุรกิจSMEs อาจไม่สามารถแบกรับภาระในส่วนนี้ได้ จำเป็นที่จะต้องหาแนวทางบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น
โดยในการประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ ภาคเอกชนจะมีการหารือถึงปัญหาดังกล่าว เพื่อสรุปข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการปรับมาตรการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews