พลิกโฉมนโยบายการเงิน 10 สิงหา ขึ้นดอกเบี้ย
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.วันที่ 10 สิงหาคมนี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวัน ที่จะชี้อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อพุ่ง ดอกเบี้ยโลกรุมเร้า
ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองไปในทิศทางเดียวกันว่า การประชุม กนง.รอบนี้ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแน่นอนร้อยละ 0.25 หลังจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ และถูกตีความ เสมือนหนึ่งเป็นการส่งซิกให้ตลาดรับรู้ว่า จากนี้ไปดอกเบี้ยไทยขาขึ้นแล้ว
ในเรื่องนี้ “นายเชาว์ เก่งชน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด บอกกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า กนง.ขึ้นดอกเบี้ยแน่ และจะทยอยขึ้น เพราะผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งสัญญาณมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเปรียบเสมือนเป็นการปรับนโยบายการเงิน ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อจะลดลง
สำหรับเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง นายเชาว์ มองว่า ยังคงเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง ราคาน้ำมันแพง แม้ว่าขณะนี้ทั้งสองเรื่องจะชะลอลงมาบ้าง แต่ก็อยู่ในระดับสูงกว่าในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ ส่วนการส่งออก ก็รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ก็เหลือแต่ภาคการท่องเที่ยวที่ยังดูดี ซึ่งถ้าปีนี้มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ 10 ล้านคน ปีหน้าอีก 20 ล้านคน ก็จะช่วยประคองเศรษฐกิจได้
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ธนาคารกรุงเทพ หรือ BBL คาด ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้งในปีนี้จาก 0.50% เป็น 1.25% ก่อนที่จะปรับขึ้นต่อไปจนอยู่ระดับที่ 2-3% ในระยะยาว ส่วนตัวเลขจีดีพีปีนี้ ยังคงประมาณไว้ที่ 3-4% โดยมองว่าการส่งออก และภาคท่องเที่ยวจะเป็นตัวขับเคลื่อนการฟื้นตัวหลักของเศรษฐกิจไทย
ทั้งนี้ การส่งออกขยายตัวไปแล้ว 12% yoy ในครึ่งปีแรกขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 700,000 คนในเดือนกรกฎาคม หลังจากที่แกว่งอยู่ในกรอบประมาณ 100,000-200,000 คน ในช่วงต้นปีนี้จากความกังวลเกี่ยวกับ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่
ด้านอัตราเงินเฟ้อผู้บริหารเชื่อว่าน่าจะใกล้หรือผ่านจุดสูงสุดไปแล้วหลังจากที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกลับลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งอาจจะช่วยให้ธนาคารกลางทั่วโลกผ่อนคลายท่าทีในการเร่งใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวลง
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามผลการประชุม กนง.วันที่ 10 สิงหาคมนี้อย่างใกล้ชิด เพราะนี่ คือหนึ่งในประเด็นสำคัญที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีปากท้องของประชาชนเป็นเดิมพันนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews