ครม.เห็นชอบหลักการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนเพิ่มอีกร้อยละ 5 เป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการของการปรับค่า อาหารกลางวัน ของนักเรียนเพิ่มอีกร้อยละ 5 เป็นอัตรา 21 บาท/คน/วัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สำหรับโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 1 ถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมีจำนวนโรงเรียน 49,861 โรงเรียน และจำนวนนักเรียน 5,894,420 คน งบประมาณทั้งสิ้น 25,436,304,000 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งอุดหนุนให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. 23,561,921,200 ล้านบาท และจัดสรรให้สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับนักเรียนเอกชนอีก 1,874,382,800 บาท
โดยนายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ค่าอาหารกลางวันของนักเรียนครั้งนี้ ปรับเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 5 เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าใช้จ่ายและค่าวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่มีราคาสูงขึ้น และคำนึงถึงปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการในการประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนซึ่งกระทรวงศึกษาธิการคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการปรับค่าอาหารกลางวันของนักเรียนอัตราใหม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้และจะทันต่อการเปิดเทอมครั้งที่ 2 ในปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พฤศจิกายน นี้ด้วย
ครม.รับทราบข้อเสนอของกมธ.การศึกษาวุฒิสภา ว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงโควิด-19
นายอนุชา บูรพชัยศรี เผยว่า คณะรัฐมนตรีรับทราบ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วน ของคณะกรรมาธิการการศึกษาวุฒิสภาว่าด้วยการบริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เหมาะสมกับสังคมไทย โดยมีข้อเสนอแนะทั้งมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว อาทิ มาตรการเร่งด่วน กระทรวงศึกษาธิการควรกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังศึกษาธิการจังหวัดเพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาร่วมตัดสินใจวางแผน เลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทบนพื้นฐานความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียนภายใต้ “ความปกติใหม่” จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจโควิด-19 ทุกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำหรับมาตรการระยะยาวจัดทำหลักสูตรป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 หรือโรคติดต่ออื่นๆ กำหนดมาตรการเปิด-ปิดโรงเรียนให้สอดคล้องและยืดหยุ่นต่อความรุนแรงของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จัดเตรียมอุปกรณ์ให้นักเรียนที่มีความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสจากการเรียนทางไกล ในกรณีที่โรงเรียนต้องปิดเพราะพื้นที่มีการระบาดรุนแรง เป็นต้น
ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้บริหารการจัดการศึกษาในช่วงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเร่งด่วนรวมทั้งได้กำหนดมาตรการระยะยาวเพื่อรองรับสถานการณ์อื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันไว้แล้ว ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาหรือ สอศ. จะร่วมกับสถานศึกษา จัดทำคู่มือสร้างความเข้าใจและการเรียนการสอนตามหลักสูตร พัฒนาครูผู้สอนและพัฒนาผู้เรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้ในวิถีความปกติใหม่ เพื่อให้สถานศึกษา อาชีวศึกษาผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะและตอบสนองความต้องการของสถานประกอบการและตลาดแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ครม.มติคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 เกี่ยวกับการมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับยังชีพที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการ
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าคณะรัฐมนตรีรับทราบมติคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564
เกี่ยวกับการมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่ได้รับยังชีพที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น โดยมีสาระสำคัญ คือ
การชะลอการดำเนินการเรียกเงินเบี้ยยังชีพคืนจากผู้สูงอายุที่มีความซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น ซึ่งมีผู้สูงอายุถูกทวงถามจำนวน 5,700 คน และอีก 2,000 คน อยู่ในบัญชีทวงถาม
ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
กรมบัญชีกลาง กรุงเทพมหานคร ร่วมหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น
กำหนดเกณฑ์กลางที่สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และหาทางเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดการรับซ้ำซ้อน
ครม.เห็นชอบขยายเวลาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 ปี เริ่ม 1 มกราคม 64 ถึง 31 ธันวาคม 66
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ที่ประชุมเห็นชอบขยายเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกไปอีก 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อจูงใจผู้ประกอบการกิจการและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ อันจะเป็นการสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้แก่ประชาชน ซึ่งพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดยะลาจังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และ 4 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอเทพา สำหรับมาตรการที่ขยายเวลาออกไปอีก 3 ปี
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มุ่งเป้าที่การพัฒนาพื้นที่ให้เกิดความเจริญ ประชาชนมีงานทำ มีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีโดยไม่ใช้วิธีการรุนแรงเข้าแก้ปัญหา ซึ่งโครงการพัฒนาต่างๆ ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน จะนำไปสู่ความสงบสุขและการพัฒนาที่อย่างยั่งยืนต่อไป
ครม.อนุมัติงบ 1.97 หมื่นล้านบาท สร้างทางหลวงพิเศษเอกชัย-บ้านแพ้ว ลดปัญหาจราจรบนถนนพระราม 2 สร้างปี 64-67
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่าที่ประชุมอนุมัติการดำเนินงานก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียนบ้านแพ้วช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว โดยในส่วนของงานโยธาวงเงินค่าก่อสร้างวงเงิน 19,700 ล้านบาท โครงการเป็นทางยกระดับ มีระยะทางรวม 16.4 กิโลเมตร จะก่อสร้างในปี 2564 ถึง 2567 เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด และแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนทางหลวง 35 หรือถนนพระราม 2 รวมทั้งยังช่วยขยายการเดินทางสู่พื้นที่พักใต้ โดยอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางตามแผนประมาณการรายจ่ายที่ได้รับ โดยค่าผ่านทางรถยนต์ 4 ล้อ แรกเข้า 10 บาท และจะเพิ่มขึ้น 2 บาทต่อกิโลเมตร รถ 6 ล้ออัตราแรกเข้า 16 บาท และเพิ่มขึ้น 3.20 บาทต่อกิโลเมตร และรถมากกว่า 6 ล้อขึ้นไปอัตราแรกเข้า23 บาท และเก็บเพิ่ม 6 บาทต่อกิโลเมตร
นอกจากนี้ยังเห็นชอบการแก้ไขสัญญาการออกแบบและการก่อสร้างงานโยธาการจัดหาระบบรถไฟฟ้าการให้บริการการเดินรถไฟฟ้าซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี ส่วนต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี วงเงิน 4,230 ล้านบาท
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news