“พงศ์พล”แนะอย่าเล่นเกมเอาคืนกัน ชี้ถอนร่างพ.ร.บ.กัญชา
“พงศ์พล” แนะสภาคำนึงถึง ปชช. อย่าเล่นเกมเอาคืนกัน ชี้ ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา เกิดสูญญากาศต่อ ไม่มีกฎหมายคุมนานขึ้น – ระบุยกดอกเบี้ยหนี้ กยศ.ทำกองทุนพัง ผลกระทบจมเด็กรุ่นหลัง
นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ คณะทำงานฝ่ายการเมืองพรรคกล้า กล่าวถึงกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เชื่อมโยงกรณีเห็นชอบ แก้ไขยกเลิกดอกเบี้ย ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะปฏิเสธกันไปมาว่าไม่ได้มีนัยยะการเมือง แต่สิ่งที่เห็นตามหน้าสื่อชัดเจน เมื่อพรรคภูมิใจไทยโหวตสวนตามฝ่ายค้าน ให้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย จากนั้นเสรีกัญชาจากพรรคภูมิใจไทย ถูกตัดตอนจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน เป็นการเอาคืนทันทีของพรรคประชาธิปัตย์
นายพงศ์พล ระบุว่า หากพักเรื่องการเมืองลงมาดูที่เนื้อหา คำนึงถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง กัญชาเสรี แบบ100% ไม่ดีแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงสูญญากาศ ที่ปล่อยออกมาแบบไม่มีกฏหมายลูกควบคุม แต่การที่ปัดตกถอนร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เท่ากับว่าเพิ่มระยะเวลาสูญญากาศ ให้กัญชายังเสพได้-ขายได้ แทนที่จะโหวตรับบางข้อที่เป็นประโยชน์
ไม่ต้องรับ 46 ข้อทั้งหมดก็ได้ เช่น มาตรา 37 ห้ามขายให้บุคคลที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร บุคคลอื่นใดตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกําหนด, มาตรา 37/7 ห้ามผู้ใดขับขี่ยานพาหนะในขณะมึนเมากัญชา กัญชง สารสกัด หรืออาหารตามกฎหมาย ขณะที่ตนไม่เห็นด้วยกับบางมาตรา ที่เพิ่มเข้ามา เช่นมาตรา 18 และ มาตรา 20 ปลูกกัญชา /กัญชง ในครัวเรือนได้ไม่เกินครัวเรือนละ 15 ต้น ต้องจดแจ้งจากผู้รับจดแจ้ง ใบรับจดแจ้งมีอายุ 1 ปี
ส่วนการยกเลิกไม่คิดดอกเบี้ย กยศ.นั้น ตนมองว่าเรื่องนี้มีผลย้อนหลังให้ลูกหนี้กว่า 3.45 ล้านคน คิดเป็นค่าใช้จ่ายรัฐหลายหมื่นล้านบาท เป็นการช่วยเชิงประชานิยมที่ผิดพลาด ดูหวังผลคะแนนนิยม มากกว่ามองทั้งระบบ เพราะที่ควรแก้ด้วยการปรับดอกเบี้ยต่ำ 0.5-1% หรือเพิ่มระยะเวลาชำระหนี้ให้นักเรียนมากกว่า
ทั้งนี้ นายพงศ์พล ระบุว่า หากคิดดอกเบี้ยศูนย์ ทำให้กองทุนหมุนเงินด้วยตัวเองไม่ได้ แค่เปอร์เซ็นต์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุกๆปีจะทำให้มูลค่ากองทุนติดลบเรื่อยๆ และอาจต้องอาศัยเงินภาครัฐอื่นมาสนับสนุน ที่สำคัญการยกเลิกดอกเบี้ย 0% ยังไม่แฟร์กับกลุ่มนักเรียนวินัยดีรุ่นก่อนๆที่ชำระดอกเบี้ยครบตามกำหนด เมื่อกองทุนสำรองเพื่อการศึกษาขาดทุนเรื่อยๆ และพังลง จะเกิดเป็นปัญหาระยะยาวภาระไปตกกับใคร ถ้าไม่ใช่เด็กรุ่นหลังต่อๆไปที่เขาอาจไม่มีโอกาสเข้าถึงทุนเล่าเรียนแบบนี้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews