ชัชชาติ จี้ 6 ศูนย์ปฏิบัติการแก้ปัญหา 6 เรื่องหลัก
วันนี้ (10 ต.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ถึงการตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามปัญหา 6 เรื่องหลัก ณ ห้องประชุมชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง)
ประกอบด้วย 1. ศูนย์ปฏิบัติการเรื่องฝุ่น PM2.5 ได้มีการออกมาตรการ 4 ระดับ คือ ระดับ 1 ค่าฝุ่นไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. ระดับ 2 ค่าฝุ่น 37.6-50 มคก./ลบ.ม. ระดับ 3 ค่าฝุ่น 51-75 มคก./ลบ.ม. และ ระดับ 4 ค่าฝุ่น ตั้งแต่ 76 มคก./ลบ.ม. ขึ้นไป ซึ่งเป็นแผนที่สอดคล้องกับแผนระดับชาติ
เริ่มดำเนินการในระดับ 1 มี 12 มาตรการ คือ วิจัยหาต้นเหตุ/นักสืบฝุ่น แอปพลิเคชันทราฟฟี่ฟองดูว์ การพยากรณ์แจ้งเตือน ขยายระบบตรวจวัดเป็น 1,000 จุด ตรวจโรงงาน 1,222 แห่ง ตรวจเพลนท์ปูน 91 แห่ง ตรวจรถควันดำ ควบคุมและลดการเผาชีวะมวล ตรวจรถยนต์ 14จุด/วัน ตรวจรถบรรทุก/รถโดยสาร สนับสนุนรถ EV ติดป้ายแจ้งเตือนแสดงผลฝุ่นในโรงเรียนกทม. ศูนย์เด็กเล็ก ชมรมผู้สูงอายุ ศูนย์เยาวชน สำนักงานเขต และชุมชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว โครงการปลูกต้นไม้
1ล้านต้น และเพิ่มสวน 15 นาที ส่วนมาตรการระดับ 2 มี 10 มาตรการที่เข้มข้นขึ้น ระดับ 3 มี 8 มาตรการเข้ม เช่น ทำ Low Emission Zone เช่น ขอความร่วมมือ WFH 60% และหยุดกิจกรรมที่เกิดฝุ่น ดูแลผลกระทบในโรงเรียน และประชาสัมพันธ์ใส่หน้ากากอนามัย และ ระดับ 4 มี 11 มาตรการ อาจมีการปิดโรงเรียน ประกาศพื้นที่ควบคุม โดยศูนย์ฯจะบังคับใช้มาตรการให้เข้มข้นขึ้น
2. ศูนย์ปฏิบัติการด้านการจราจรและความปลอดภัยทางถนน ให้มีการแก้ปัญหาจุดฝืดจราจรของกรุงเทพฯ
3. ศูนย์ปฏิบัติการดูแลเรื่องหาบเร่แผงลอย ได้ดำเนินการมา 2 เดือนในการรวบรวมข้อมูลเพื่อออกมาตรการเกี่ยวข้อง
4.ศูนย์ปฏิบัติการด้านยาเสพติด ต้องดำเนินการเข้มข้นขึ้น ให้ตอบสนองกับกรณีเหตุที่เกิดขึ้นที่หนองบัวลำภู เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับชีวิตคนที่เกี่ยวข้อง
5. ศูนย์ปฏิบัติการเกี่ยวกับการทุจริตความโปร่งใส ผลักดันเรื่องความโปร่งใสของกทม.ให้เข้มขึ้น ซึ่งเราจะให้ความสำคัญจากนี้เป็นต้นไป
6. ศูนย์ปฏิบัติการเรื่องน้ำที่ทำอยู่แล้ว โดยทุกศูนย์ไม่ได้ตั้งขึ้นใหม่แต่เป็นการทำให้เข้มขึ้น ช่วยบูรณาการและประมวลผลสรุปข้อมูลตามระยะเวลา ทุกเช้า ทุกสัปดาห์ เพื่อให้การบริหารจัดการบูรณาการมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า สำหรับมาตรการในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 เกี่ยวกับการเวิร์คฟอร์มโฮมนั้น ทางกทม.จะเป็นการขอความร่วมมือหรือเป็นการบังคับใช้ นายชัชชาติ กล่าวว่า ถ้าเป็นช่วงวิกฤติต้องขอความร่วมมือ หากมองในมิติหนึ่ง การเวิร์คฟอร์มโฮมเป็นตัวที่จะช่วยไม่ใช่แค่เรื่อง ฝุ่น PM 2.5 แต่จะช่วยในเรื่องทางกายภาพบนท้องถนน เกี่ยวกับการจราจรที่ติดขัดด้วย
ซึ่งรูปแบบการทำงาน ก็จะมีความเปลี่ยนไปพอสมควร ซึ่งก็เป็นเรื่องของการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัทห้างร้านต่างๆ เพราะบางครั้งการมาทำงาน ในช่วงวิกฤติ ฝุ่น PM2.5 อาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดน้อยลง
ซึ่งกทม.ไม่มีอำนาจในการบังคับ ยกเว้นในกรณีที่มีระดับความรุนแรงเกิน 75 ขึ้นไป อาจจะมีการประกาศพื้นที่ควบคุมบางส่วน ซึ่งต้องใช้อำนาจอีกระดับหนึ่ง การเวิร์คฟอร์มโฮมไม่สามารถทำได้ง่าย แต่เรื่องการควบคุมก่อสร้าง ควบคุมการเข้ามาของรถในพื้นที่ กทม. สามารถประกาศควบคุมได้ แต่เวิร์คฟอร์มโฮมเองอาจจะเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะบริษัทห้างร้านต่างๆ ไม่ได้เป็นต้นต่อในการก่อมลพิษหรือเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น
ซึ่งทาง กทม. ไม่มีอำนาจในการสั่งการโดยตรง แต่จะเป็นการขอความร่วมมือมากกว่า อาจจะต้องขอผ่านคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนของกรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) ยกตัวอย่างเช่น กรณีน้ำท่วมที่รองฯทวิดา ได้แนะนำเรื่องเวิร์คฟอร์มโฮม ก็มีหลายหน่วยงานได้มีการให้พนักงานช่วยเวิร์คฟอร์มโฮม ซึ่งทำให้วันที่ฝนตกหนักการจราจรในช่วงเย็นเบาบางลง
นายชัชชาติ กล่าวต่ออีกว่า จริงๆ แล้วสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ โดยได้มีการพูดคุยกับคณะผู้บริหาร ว่าหน้าที่ของกทม. สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างความไว้วางใจระหว่างภาครัฐกับประชาชน โดยที่ผ่านมาหากภาคเอกชนไม่ไว้ใจภาครัฐการทำงานก็จะยากขึ้น ถ้าไว้ใจซึ่งกันและกันก็จะเป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมา กทม.พยายามสร้างความไว้ใจระหว่างภาครัฐกับประชาชนให้มากขึ้น ถึงเรามีงบประมาณเป็นแสนล้าน ก็ไม่สามารถซื้อความไว้วางใจได้ ยกตัวอย่างเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นวันที่กทม.สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ผ่านแอพพลิเคชั่น “ทราฟฟี่ฟองดูว์” ได้ 100,600 เรื่อง จากตัวเลขคนที่แจ้งเหตุเข้ามา 160,000 เรื่อง
ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นว่าประชาชนยอมแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่น “ทราฟฟี่ฟองดูว์” เพราะไว้ใจว่ากทม.สามารถแก้ปัญหาให้ได้ เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องเสียงบประมาณ พอความไว้ใจเพิ่มมากขึ้นอนาคตการขอความร่วมมืออาจจะมีพลังมากกว่าการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ถ้าช่วงเวลานี้ฝุ่นจะเยอะก็ถึงเวลาแล้วที่จะขอความร่วมมือให้เวิร์คฟอร์มโฮม เป็นต้น
ส่วนผลตอบรับจากการที่ประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนของกรุงเทพมหานคร (กรอ.กทม.) นายชัชชาติ กล่าวว่า กรอ.กทม. เห็นว่ากทม.ทำงานได้เร็วมากเพราะเพิ่งไปเจอมาเมื่อไม่กี่เดือน แต่เราสามารถตั้งคณะทำงาน เรามีโครงการนำร่องแล้ว
โดยประธานสภาหอการค้าไทย ได้ชมว่าเป็นการทำงานที่เร็วโดย ตนเชื่อว่าในระดับเมืองเราตอบสนองได้เร็วเมืองคือตลาดแรงงาน ดังนั้นเอกชนมีส่วนสำคัญในการสร้างเหมือน เพราะเป็นคนสร้างงานซึ่งกทม.มีคนแค่ 80,000 คนแต่คนเป็นหลายล้านคน ถูกจ้างงานโดยเอกชน
ดังนั้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐเอกชนคือหัวใจของการอยู่รอดของเมืองในอนาคต และไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เราได้มีการร่วมมือกับหลายหอการค้า โดยเมื่ออาทิตย์ที่แล้วได้ไปเจอกับหอการค้าอเมริกา ที่อยู่ในประเทศไทยซึ่งมีอัตราการจ้างงานหลายแสนคน ก็อยากจะมาคุยกับ กทม.หลายเรื่อง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews