ตั้งป้อมสู้ ดวงโลกแย่ เศรษฐกิจปี66
สร้างแรงกระเพื่อมไปทั้งโลกกับตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2565 ของสหรัฐฯ ที่ขยายตัว 2.6%QoQ สูงกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ 2.3%QoQ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวพลิกกลับมาบวกครั้งแรก หลังจีดีพี ไตรมาส 1 และ 2 อยู่ที่ลบ 1.6%QoQ และลบ 0.6%QoQ ตามลำดับ
ทั้งนี้ การขยายตัวที่ดีกว่าคาด ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ สะท้อนได้จากตลาดหุ้นดาวโจนส์ที่พุ่งขึ้นในวันที่ 27 ต.ค.หลังตัวเลขถูกเปิดเผยออกมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักวิเคราะห์ มองว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังเผชิญกับการถดถอยอยู่
โดยบริษัทหลักทรัพย์ พาย ระบุว่า ไส้ในจีดีพีสหรัฐฯ พบว่าการบริโภคยังขยายตัวได้ 1.4%QoQ แต่การบริโภคสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทนลดลงต่อเนื่องที่ 0.8%QoQ และ 1.4%QoQ ตามลำดับ แต่การบริโภคด้านบริการปรับดีขึ้น 2.8%QoQ ส่วนการลงทุนปรับลดลง 8.5%QoQ และมีเพียงการขยายตัวของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัว 10.8%QoQ ด้านการส่งออกขยายตัว 14.4%QoQ แต่นำเข้าหดตัว 6.9%QoQ
ข้อมูลทั้งหมดสรุปได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีขึ้นจากการส่งออก ขณะที่การบริโภคภายในและการลงทุนค่อนข้างอ่อนแอสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจของชาติมหาอำนาจยังไม่สู้ดี เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะเป็นอย่างไร สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ถาม สภาพัฒน์
ในประเด็นดังกล่าว โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้คำตอบว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ไม่น่าห่วง เพราะการท่องเที่ยว และการส่งออกยังขยายตัวได้ดี แต่สำหรับหน้า 2566 น่ากังวล เพราะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวแน่ๆ
“จริงๆ ไตรมาส 4 ผมว่าไม่น่าจะ ดูแล้วถ้าสถานการณ์ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อในประเทศก็เริ่มที่จะลดลงแล้ว แต่จริงๆ แล้วปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่ปีหน้ามากกว่า ปีหน้าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวแน่ๆ” และเมื่อถามว่า หากปีหน้าเศรษฐกิจโลกแย่ แล้วไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการจะต้องเตรียมเนื้อตัวอย่างไร คำตอบที่ได้จาก สภาพัฒน์ น่าสนใจ
“แน่นอนส่วนหนึ่งกระทบกับภาคส่งออก แต่ที่กระทบภาคส่งออกจะเป็นในอุตสาหกรรมอะไรต้องไล่ดูอีกที คือการเตรียมรับมือก็ถือผมคิดว่าภาคเอกชนเองก็คงต้องพยายามบริหารความเสี่ยงในธุรกิจตัวเองด้วย เพราะว่าเราไม่แน่ใจว่าปีหน้า คือ สถานการณ์มันค่อนข้างจะดูแล้ว
ค่อนข้างจะมีความไม่แน่นอนค่อนข้างเยอะ เพราะมีทั้งปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เขาพยายามจะไล่ขึ้นกันไปในต่างประเทศสู้กับเงินเฟ้อ แล้วก็เรื่องของความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่จบ เพราะฉะนั้นอันนี้ก็คงต้องในเซกเตอร์ต่างๆ คงต้องพยายามบริหารความเสี่ยงในการทำธุรกิจของตัวเองด้วย” จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ที่เชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐบาลนายกฯ ลุงตู่อย่างใกล้ชิด เพราะทุกย่างก้าว นั่นหมายถึง ปากท้องของประชาชนนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews