Home
|
ข่าว

นายกฯ แสดงวิสัยทัศน์งาน ABIS 2022

Featured Image
นายกฯ แสดงวิสัยทัศน์งาน ABIS 2022 ย้ำ 3 ประเด็นหลัก พัฒนา “ดิจิทัลอาเซียน” สร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคที่เข้มแข็ง เชื่อมโยง ครอบคลุมทุกมิติ

 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียน ค.ศ. 2022 (ASEAN Business and Investment Summit (ABIS) 2022) หัวข้อ “อาเซียนที่มีความพร้อมด้านดิจิทัล (Digital-Ready ASEAN)” ผ่านระบบการประชุมทางไกล ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

 

นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในการประชุมสุดยอดธุรกิจและการลงทุนอาเซียนอีกครั้งในปีนี้ ซึ่งหัวข้อ “อาเซียนที่มีความพร้อมด้านดิจิทัล” เป็นประเด็นที่รัฐบาลไทยและอาเซียนให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น โดยเฉพาะการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในยุคหลังโควิด – 19 ในภาคธุรกิจ เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลในทุกมิติ สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีเสนอ 3 ประเด็นหลักที่ควรให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านดิจิทัลของอาเซียนเพื่อบรรลุการเป็นประชาคมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น ครอบคลุม บูรณาการ และสามารถแข่งขันกับนานาชาติได้ ดังนี้

 

1. การสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนมีการขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 360,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งควรเร่งเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างรอบด้านต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการปรับปรุงมาตรฐานและกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่โปร่งใสและเป็นธรรม ตลอดจนการส่งเสริมดิจิทัลสตาร์ทอัพที่เข้มแข็งที่ไทยให้ความสำคัญ

2. การสร้างความเชื่อมโยงดิจิทัล การเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพและไร้ร้อยต่อ ความเชื่อมโยงด้านข้อมูลและระบบการชำระเงินดิจิทัล ตลอดจนความเชื่อมโยงของระบบ ASEAN Single Window เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจดิจิทัลและเสริมสร้างการบูรณาการด้านดิจิทัลของอาเซียน ซึ่งไทยมีโครงการ ASEAN Digital Hub เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั่วประเทศ และพัฒนาความเชื่อมโยงของโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศในภูมิภาค การพัฒนาโครงการ Thailand Digital Valley ในพื้นที่ EEC

 

3. การสร้างความยั่งยืนและครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การพัฒนาบุคลากรดิจิทัล การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ MSMEs และสตรี นำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ครอบคลุม และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาค โดยไม่ทิ้งกลุ่มใด ๆ ไว้ข้างหลัง

 

นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า อาเซียนควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความร่วมมือและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสาขาเกษตรอัจฉริยะ พลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว รวมทั้งเห็นว่า การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมและการเข้าถึงนวัตกรรม การพัฒนาระบบนิเวศที่ปลอดภัย การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการขยายโอกาสและผลักดันการเติบโตด้านดิจิทัลในยุคหลังโควิด-19

 

นายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นว่า การพัฒนาด้านดิจิทัลของอาเซียนจะเป็นไปแบบรอบด้านระหว่าง 3 เสาของประชาคมอาเซียน โดยให้ความสำคัญกับการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ความเชื่อมโยงดิจิทัลที่เข้มแข็ง และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนประชาคมดิจิทัลอาเซียน พร้อมก้าวสู่การบูรณาการด้านดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบเพื่อการเป็น “ดิจิทัลอาเซียน” และทำให้อาเซียนเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก เพื่อประโยชน์ของประชาชนสืบต่อไป

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube