นายกฯ ประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ผลักดันร่วมมือสาธารณสุข ฟื้นฟูเศรษฐกิจ
นายกฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลีใต้ ผลักดันความร่วมมือด้านสาธารณสุข การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน พร้อมส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่ใกล้ชิด
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 23 พร้อมผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (เมียนมาไม่เข้าร่วม) นายยุน ซ็อก-ยอล (Mr. Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี และเลขาธิการอาเซียน เพื่อทบทวนความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีในรอบปีที่ผ่านมา กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น
นายกรัฐมนตรี กล่าวต้อนรับประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ สู่การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีครั้งแรก ไทยพร้อมสนับสนุนบทบาทของเกาหลีใต้ในการดำเนินนโยบายทางการทูตเชิงรุกที่สร้างสรรค์
ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค พร้อมยินดีที่เกาหลีใต้คงให้ความสำคัญกับอาเซียน
โดยสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่อาเซียนเป็นศูนย์กลาง มียุทธศาสตร์ที่มุ่งขยายความร่วมมือในทุกมิติกับอาเซียน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวทางการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน และการเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายร่วมกันในอนาคต 3 ประการ ดังนี้ ประการแรก สาธารณสุขที่มั่นคงและครอบคลุม การพัฒนาด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นเชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพของเกาหลีใต้จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขของภูมิภาคในระยะยาว
โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยา รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ โดยไทยสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากการฝึกอบรมระดับโลกสำหรับการผลิตทางชีวภาพของเกาหลีใต้ นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงความร่วมมือเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนยัง รวมถึงการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ประชาชน
ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ทุกประเทศสมาชิกดำเนินการได้สำเร็จ โดยไทยหวังว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภูมิภาคร่วมกันได้ภายในปี 2573 ตามที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้ ประการที่สอง การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืน ที่ประชุมฯ ควรมุ่งสานต่อการเสริมสร้างบูรณาการทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ
สนับสนุนให้ภาคธุรกิจของเกาหลีใต้ขยายการค้าและการลงทุนในอาเซียนเพิ่ม รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการสรรค์สร้างนวัตกรรม ตลอดจนการพัฒนา MSMEs และ start-ups โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทุนมนุษย์และทักษะที่จำเป็นสำหรับยุค 4IR และยุคดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายพลิกโฉมประเทศ โดยการส่งเสริมการลงทุน เพื่อปรับโครงสร้างไปสู่ “เศรษฐกิจใหม่” ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิด โดยไทยมีโครงการ “ดิจิทัล ปาร์ค ไทยแลนด์” ของ EEC เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบาย ซึ่งไทยพร้อมเดินหน้าส่งเสริมการลงทุนอย่างรอบด้าน
ประการที่สาม ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนที่ใกล้ชิดและแน่นแฟ้น นายกรัฐมนตรีส่งเสริมการไปมาหาสู่ และการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันในทุกระดับ ชื่นชมความสำเร็จของเกาหลีใต้ในการส่งเสริม และเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไปทั่วโลก โดยเฉพาะการใช้ “soft power” ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสาธารณรัฐเกาหลีในทุกมิติ ซึ่งไทยสนับสนุนให้มีการแบ่งปันแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในสาขาที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญ และกระตุ้นการท่องเที่ยวในภูมิภาค
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำเจตนารมณ์ในการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลีโดยหวังจะเห็นการเจรจามีความคืบหน้าจนนำไปสู่คาบสมุทรเกาหลีที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ ไทยมุ่งมั่นและพร้อมที่จะรักษาบทบาทที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะการผลักดันความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ของทุกประเทศในภูมิภาค
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews