สปสช. ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข แก่บริการผ่าตัดข้อเข่าเทียม การดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน สนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อให้กองทุนหลักประกันสุขภาพสามารถดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง ล่าสุด สปสช. ได้ออกประกาศ 2 ฉบับเพื่อให้การจ่ายเงินกองทุน สปสช. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลรักษาพยาบาลประชาชนอย่างครอบคลุมมากขึ้น โดยทั้ง 2 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา
ฉบับแรก ประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีบริการผ่าตัดข้อเขาเทียม พ.ศ.2565 มีผลบังคับนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยสาระสำคัญได้กำหนดให้การบริการผ่าตัดข้อเข่าเทียม เป็นรายการค่าใช้จ่ายที่หน่วยงานการเบิกค่าใช้จ่ายจากกองทุน สปสช. ได้ เมื่อผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้ารับบริการ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ตามประกาศได้กำหนดหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายไว้ อาทิ ต้องเป็นการให้บริการแก่ผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดและไม่มีลักษณะต้องห้าม ต้องเข้ารับบริการกับหน่วยบริการรับส่งต่อที่มีศักยภาพตามกำหนด และการเข้ารับผ่าตัดของผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 55 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิหรือข้อเข่าเสื่อมไม่ทราบสาเหตุ ต้องดำเนินการขออนุมัติก่อนการผ่าตัดตามขั้นตอนที่กำหนด
รวมถึงกำหนดรายการค่าใช้และอัตราการจ่าย กรณีบริการในเขต บริการนอกเขต ตลอดจนค่าใช้จ่ายกรณีอุปกรณ์อวัยวะเทียม ที่จะจ่ายตามค่าใช้จ่ายจริงแต่ไม่เกินอัตราตามประกาศ สปสช. ว่าด้วยรายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียมและข้อบ่งชี้ในการบำบัดรักษาโรค
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ฉบับที่2 เป็นประกาศ สปสช. เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข กรณีการดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน พ.ศ. 2565 มีผลบังคับย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 65 เป็นต้นมา โดยตามประกาศได้กำหนดบทนิยาม “การดูแลแบบผู้ป่วยในที่บ้าน” หมายความว่า การให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ป่วยในของหน่วยบริการ ณ สถานที่พำนักของผู้ป่วย
โดยมีมาตรฐานการดูแลตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งหากหน่วยบริการดำเนินการครบถ้วนตามมาตรฐาน ก็สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ตามเกณฑ์และอัตราที่กำหนดได้
ทั้งนี้ ประกาศได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่ายแก่หน่วยบริการที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยในที่บ้าน ได้แก่ ต้องเป็นการให้บริการแก่ผู้มีสิทธิตามกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยบริการภาครัฐที่สามารถให้บริการผู้ป่วยใน และผ่านเกณฑ์ประเมินศักยภาพการดูแลผู้ป่วยในที่บ้านตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และต้องเป็นการให้บริการแก่ผู้ป่วยในตามกลุ่มโรค ได้แก่ โรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคแผลกดทับและพื้นที่กดทับ โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ โรคปอดอักเสบ โรคไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันภายหลังได้รับการผ่าตัด โรคโควิด19 โดยทั้งหมดจะต้องมีอาการ หรือข้อบ่งชี้ตามที่กำหนด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews