กพช.ตรึงราคาพลังงานช่วงวิกฤต ม.ค.-เม.ย. 66 พร้อมเตรียมศึกษาพฤติกรรมภาคครัวเรือนใช้ไฟเกิน 500 หน่วยปรับค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ครั้งที่ 8 ประจำปี 2565 ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมว่า จากสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย และยูเครน ยังไม่มีข้อยุติ จึงทำให้ราคาพลังงานยังผันผวน และราคาก๊าซ LNG มีการปรับตัวสูงขึ้นอยู่ระหว่าง 25-33 เหรียญสหรัฐฯ
ซึ่งถือว่ายังมีราคาสูง จากเดินที่มีมูลค่าประมาณ 10 เหรียญสหรัฐฯ ทำให้วิกฤตพลังงาน ยังคงมีอยู่ และยังมีความกังวลว่า ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ที่ยุโรปมีอากาศหนาวเย็น จะส่งผลให้ราคาพลังงานมีความผันผวนด้วย ดังนั้น ที่ประชุม กพช. จึงเสนอพิจารณาลดภาระค่าไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ในช่วงที่วิกฤตราคาพลังงานมีความผันผวนสูง ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน
โดยจะมีการจัดสรรแก๊สจากอ่าวไทยส่วนหนึ่ง มาอุดหนุนอัตราค่าไฟฟ้าครัวเรือนไม่ให้เกินกว่าราคาในปัจจุบัน พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้า และส่งเสริมการประหยัดพลังงานในครัวเรือน รวมถึงการศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในภาคครัวเรือน ที่มีการใช้พลังงานเกินกว่า 500 หน่วยต่อเดือน เพื่อกำหนดมาตรการและประหยัดพลังงาน และปรับอัตราค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได รวมถึงยังขอความร่วมมือไปยัง ปตท. แบ่งรายได้จากโรงแยกก๊าซประมาณเดือนละ 1,500 ล้านบาท
ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายนมาสนับสนุนราคาพลังงาน เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน พร้อมแนะนำภาคอุตสาหกรรม ดำเนินมาตรการการเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้า เ
พื่อตอบสนองต่อราคาค่าไฟในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อลดความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ Demand Respond เพื่อประหยัดไฟฟ้าให้มาก และลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวม ซึ่งรัฐจะมีมาตรการจูงใจให้ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้า ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย
นายสุพัฒนพงษ์ ยังยืนยันด้วยว่า กระทรวงพลังงาน จะพยายามหาเชื้อเพลิงอื่นทดแทน เช่น เชื้อเพลิงราคาถูกจากเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยลดผลกระทบค่าใช้จ่ายในภาคส่วนต่าง ๆ และประคับประคองสถานการณ์วิกฤตพลังงานไปผ่านพ้นไปได้ ยอมรับว่า ไม่เคยเห็นความผันผวนของราคาพลังงานมากขนาดนี้มาก่อน โดยเฉพาะราคาก๊าซ LNG ที่แกว่ง ซึ่งหากมีราคานำเข้าเกิน 50 เหรียญสหรัฐ รัฐ อาจต้องมีมาตรการบังคับการประหยัดพลังงาน
เพื่อลดการนำเข้าก๊าซในราคาสูง แต่ย้ำว่า กระทรวงพลังงานจะพิจารณาโดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ลดต้นทุนการใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานทดแทนอื่น หรือพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน
นายสุพัฒนพงษ์ ยังยอมรับว่า การออกมาตรการต่าง ๆ น้น จะต้องพิจารณามาตรการตามสถานการณ์ จึงทำให้กำหนดได้เพียงมาตรการระยะสั้น เพราะการกำหนดมาตรการระยะยาว อาจมีความสุ่มเสี่ยงต่อประเทศโดยไม่จำเป็น จึงต้องใช้มาตรการระยะสั้น เพื่อให้มีความแม่นยำต่อสถานการณ์
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews