ชัชชาติ จับมือ มจธ. พัฒนาหลักสูตรรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล เป็นเกราะป้องกันให้นร.ในสังกัด รวมทั้งบุคคลากร
วันนี้ (7 ธ.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯกทม. ประชุมร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ )และ ตัวแทนจาก บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสจำกัด (มหาชน) เพื่อหารือเรื่องการจัดทำข้อตกลงความร่วมมือ ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลสำหรับครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนในสังกัด กทม. ด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์ ” บนแพลตฟอร์ม LearnDi for Thais ณ ศาลาว่าการ กทม (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
นายศานนท์ กล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้มีการหารือเรื่องการรู้เท่าทันสื่อและความปลอดภัยจากไซเบอร์ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้มีการพูดคุยถึงแนวทางการปรับหลักสูตรมาระยะหนึ่งว่าจะช่วยเรื่องนี้อย่างไร ไม่เพียงแค่นักเรียนรวมถึงครู ที่จะต้องมีความรู้ให้เท่าทันไซเบอร์
โดยหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ เป็นหลักสูตรที่ มจธ.ออกแบบร่วมกับ AIS และเริ่มใช้มาตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี มีการออกใบรับรองได้ด้วยตนเองตามขั้นตอน สามารถเรียนที่ไหนก็ได้บนแพลตฟอร์ม LearnDi for Thais ซึ่งตนมองว่า เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัย เนื่องจากการเรียนในเว็บไซต์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยเนื้อหาเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นเรื่องที่เหมาะกับยุคสมัย คาดว่าประชาชนน่าจะให้ความสนใจ
ทั้งนี้ กทม.โดยสำนักการศึกษา กำลังวางแผนนำเนื้อหา(Content) ที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มดังกล่าวมาปรับใช้ในหลักสูตร 8 กลุ่มสาระวิชาในโรงเรียน เพื่อให้เป็นสื่อการเรียนรู้ที่ครูสามารถออกแบบใบรับรองและให้คะแนนวัดผลนักเรียนได้ โดย กทม.มุ่งเน้นไปที่ข้อมูลเบื้องหลังของผู้เรียนที่เรียนไปแล้วทั้งหมดกว่า 140,000 คน พบว่า มีผู้เรียนจบถึง 90,000 คน ทำให้ทราบว่าเนื้อหาด้านใดบ้างที่น่าสนใจนำมาปรับใช้กับนักเรียนและครูในโรงเรียนต่อไป
นายศานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เบื้องต้นจะมีการนำหลักสูตรดังกล่าวมาใช้ในโรงเรียนก่อน เพราะคิดว่านักเรียนจะได้รับประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ เช่น เรื่องการบูลลี่ เรื่องความปลอดภัยจากสื่อ เรื่องซื้อของออนไลน์ ฯลฯ เนื่องจากการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้เท่าทันถึงผลกระทบที่ตามมาจากการใช้ ซึ่งผู้ว่าฯกทม. เน้นย้ำว่า ไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยอย่างเดียว แต่สามารถนำหลักสูตรนี้มาใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้ เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ อาจนำเสนอเนื้อหาสอดแทรกความเท่าเทียมกันในหลักสูตรการเรียนการสอนหลักได้ในอนาคต ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าว มีจุดเด่นคือ เรียนได้ทุกที่ และสามารถออกใบรับรองตามขั้นตอนจากตัวผู้เรียนเองได้ ซึ่ง กทม.เชื่อว่าแพลตฟอร์มนี้สามารถนำมาปรับใช้กับ 8 กลุ่มสาระร่วมกับการเรียนการสอนหลักได้ โดยจะมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมกันในอนาคตต่อไป และคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปี 2566.
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews