Home
|
ทั่วไป

ปิดฉากโควิด เศรษฐกิจไทยฟื้น

สะท้อนมาจากหลายทิศทาง บอกว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแล้ว ปีหน้ามีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่ไทยจะได้ดีจากการท่องเที่ยว เพราะโควิด-19 คลี่คลาย เหมือนเห็นแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์

 

 

ซึ่งจากการสำรวจล่าสุด ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินเงินสะพัดช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 อยู่ที่ 103,039 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 โดยเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 17 ปี ซึ่งเม็ดเงินแตะหลักแสนล้านบาท กลับมาทำได้อีกครั้ง หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โควิด-19 ทำให้เม็ดเงินในช่วงเทศกาลปีใหม่ของไทยทรุดลงอย่างต่อเนื่อง จากการงดจัดกิจกรรม งดการเดินทาง ไม่มีการจัดเลี้ยงสังสรรค์ รวมถึงไม่มีการท่องเที่ยว ต่างจากเทศกาลปีใหม่ปีนี้

 

โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า จากเม็ดเงินดังกล่าวถือได้ว่าโควิด-19 สำหรับประเทศไทยปิดฉากลงแล้ว แม้การระบาดในประเทศจะยังมีอยู่บ้าง แต่ไม่ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวได้อีก ทุกคนกำลังเดินหน้าปรับตัวอยู่ร่วมกับโควิด-19 ที่ถือเป็นโรคประจำถิ่น

 

โดยผลสำรวจเฉพาะเม็ดเงินจากการจัดเลี้ยงสังสรรค์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้ อยู่ที่ 11,732 ล้านบาท บรรยากาศคึกคักกว่าในปีที่ผ่านมา เพราะสามารถจัดกิจกรรมกินเลี้ยงได้อย่างเต็มที่ เดินทางได้แบบไม่มีเงื่อนไข แม้จะมีความเป็นห่วงในเรื่องของสถานการณ์ค่าครองชีพที่ยังอยู่ระดับสูง เพราะสินค้ายังคงมีราคาแพง แต่ปีใหม่มีแค่ครั้งเดียว เชื่อว่าทุกคนจะผ่อนคลายอย่างเต็มที่ และกลับมาเดินหน้ารับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีต่อเศรษฐกิจในไทยในปีหน้ากันอีกครั้ง

 

โดยเฉพาะสถานการณ์ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่ยังไม่รู้อนาคต ว่าจะสามารถรับมือกับปัจจัยเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะค่ากระแสไฟฟ้า เพราะล่าสุดก็ยังถือว่าไม่มีทางออกให้กับผู้ประกอบการ นอกจากการต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างไม่มีเงื่อนไข พูดได้ว่าวิกฤตซ้อนวิกฤต เห็นแบบนี้แล้วเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้จริงหรือไม่ หากภาคเอกชนที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญยังไม่สามารถเดินหน้าได้

 

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย บอกว่า ไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ การปรับขึ้น-ลง ของค่ากระแสไฟฟ้าจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และโอกาสในการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย

 

การตัดสินใจใดๆ ของภาครัฐ จึงอยากให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมด้วย โดยอยากให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน หรือ กรอ.ด้านพลังงานขึ้น เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนมีเวทีในการหารือที่ใกล้ชิด เพราะการตัดสินใจด้านพลังงาน ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของธุรกิจ ว่าจะยังอยู่ได้หรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube