ชัดเจนแล้วกับบทบาททางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ล่าสุดประกาศชัดอยู่ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” นั่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี สู้ศึกเลือกตั้งปีหน้า 2566
ดังนั้นเมื่อความชัดเจนปรากฏ ย่อมส่งผลถึงอุณหภูมิทางเมืองจากนี้ต่อไป จะร้อนฉ่าอย่างแน่นอนนั่นเพราะทุกพรรคการเมืองจะระดมสรรพกำลัง ทั้งพลังดูดสส. ฉกงูเห่า เข้ามาเสริมทัพร่วมทีม รวมถึงโปรโมทแคมเปญนโยบายเด่น นโยบายดังเอาใจประชาชน โดยมีเป้าหมายใหญ่ คือ ชัยชนะจัดตั้งรัฐบาล เพื่อก้าวสู่บังลังก์อำนาจในตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 และภายใต้สมการทางการเมืองซึ่งเดิมพันไว้สูง นโยบายประชานิยม ลด แลก แจก แถม ที่โยงใยกับเศรษฐกิจ เชื่อแน่ว่าจะได้เห็นกันมากขึ้น นั่นเพราะเป็นนโยบายซึ่งหวังผลให้ได้รับการสนับสนุนทางการเมือง และหากพรรคการเมืองใด ชิงไหว ชิงพริบ เปิดนโยบายก่อน ก็จะเคลมได้ว่าเป็นเจ้าของนโยบายนั้นๆ
ทั้งนี้ นโยบายประชานิยม ถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่หลายฝ่ายท้วงติง นั่นเพราะในช่วงหลัง นอกจากไม่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนหรือภาคธุรกิจแล้ว ยังสร้างภาระทางการคลังต่อประเทศชาติอีกด้วย
ในมุมมองนักวิชาการ มองว่า ถ้าพรรคการเมืองจะสู้กันด้วยนโยบาย ก็อยากให้สู้กันด้วยนโยบายที่สมเหตุสมผล เพราะเศรษฐกิจไทยปีหน้า 2566 ยังเผชิญกับปัจจัยลบ ชัดเจนสุดคือประเด็นเศรษฐกิจโลกถดถอย
โดย “ดร.สมชัย จิตสุชน” ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ บอกกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็นว่า โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในปี 2566 ไม่ว่าพรรคไหนจะเป็นผู้ชนะ ย่อมเจอปัญหาหนักรออยู่ ทั้งหนี้ครัวเรือนที่ซุกอยู่ใต้พรม ดังนั้น นโยบายของพรรคการเมืองควรที่จะเสนอนโยบายที่สมเหตุสมผล แก้ปัญหาทั้งระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างใหญ่ๆ ต้องมีความกล้าที่จะเสนอแนวทางว่าจะแก้อย่างไร ไม่ใช่คิดแต่เรื่องประชานิยม
“ต้องระวังก็คือว่า การหาเสียงก็อย่าให้ประชานิยมจนเกินไป โดยเฉพาะการนำไปสู่เรื่องของการจับจ่ายใช้สอยงบประมาณภาครัฐที่มากเกินควร อันนี้ก็จะทำให้ปัญหาเรื่องของหนี้สาธารณะ น่ากังวล” และอีกเรื่องหนึ่งที่ “ดร.สมชัย” บอกว่า มีความสำคัญ นั่นคือ การปรับโครงสร้างงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ควรที่จะใช้แนวทาง PPP เพื่อที่รัฐบาลจะได้ไม่ต้องเสียงบประมาณที่มาก และเอางบประมาณส่วนนี้ ไปดูแลคน เพื่อสร้างศักยภาพให้โดดเด่นจะดีกว่า
“อีกเรื่องหนึ่งที่ดูจะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่รัฐบาลใหม่เข้ามา ที่อยากให้มีความกล้า ก็คือ ปรับเรื่องโครงสร้างงบประมาณ พยายามให้เป็นการใช้จ่ายที่ไปเพิ่มศักยภาพของคนไทยให้มากขึ้น ลดการสร้างตึก ลดโน้นนี่ โครงสร้างพื้นฐานก็ควรใช้แนวทาง PPP รัฐบาลจะได้ไม่ต้องใช้เงินเยอะ แล้วเอาเงินที่ว่านี้ มาดูแลคนดีกว่า ดูแลในการสร้างศักยภาพของคน” และนี่ก็เป็นมุมมองต่อการขับเคลื่อนนโยบายหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งก็ต้องจับตากันต่อไปว่า พรรคการเมืองต่างๆ รวมถึง “นายกฯลุงตู่” ที่ประกาศชัดอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ จะออกแคมเปญนโยบายเศรษฐกิจใหม่ ๆ อะไรบ้างเพื่อมัดใจประชาชน หรือจะมีนโยบายประชานิยม เพราะทุกการขยับ นั่นหมายถึง คะแนนนิยมที่เชื่อมโยงกับการเลือกตั้งนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews