มะเร็งปากมดลูก โรคใกล้ตัวผู้หญิงที่ควรระวังไว้ก่อนจะสายไป
มะเร็งปากมดลูก สาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้หญิงไทย โดยพบได้ตั้งแต่อายุก่อน 30 ปี และพบมากในช่วง 35 – 50 ปี ซึ่งผู้หญิงทุกคนควรตรวจเพื่อดูอาการ และหากพบเจอจะได้รักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ เพราะมะเร็งปากมดลูกนั้น ยิ่งพบไว ยิ่งหายได้ไว
“ผู้หญิงเราควรตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี” สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี หรือสามปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
อาการมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูก มักไม่แสดงอาการในระยะแรก หมั่นสังเกตอาการของตนเอง
- ตกขาวผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด มีตกขาวมากกว่าปกติ หรือตกขาวมีเลือดปน
- เลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ เลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์ เลือดออกหลังจากหมดประจำเดือน
- ปวดท้องน้อย ปวดบริเวณหัวหน่าว
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
- ปัสสาวะ/อุจจาระปนเลือด
- ปัสสาวะไม่ค่อยออก ปวดบวม
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ปวดหลัง ขาบวม ไตวาย (กรณีที่มะเร็งมีระยะลุกลามรุนแรง)
หรือทำการตรวจการตรวจแพปสเมียร์ (Pap smear) คัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะมะเร็งปากมดลูกอาจไม่ได้มีอาการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน การตรวจคัดกรองจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยส่วนใหญ่มักพบว่าสาวๆหลายคนเขินอายที่จะต้องตรวจภายใน เลยทำไม่กล้าไปตรวจ แต่หากใครที่ตัดสินใจที่จะตรวจ หรือกำลังลังเลอยู่ว่าจะไปตรวจดีไหม ถ้าไปตรวจจะต้องเตรียมตัวอย่างไร มาดู
5 วิธีเตรียมตัวก่อนตรวจภายใน
- สามารถตรวจภายในได้ทุกช่วงเวลา ยกเว้นช่วงที่มีประจำเดือนควรงดเว้นไปก่อน หรือหลังมีประจำเดือนไปแล้ว 5 วัน ยกเว้นถ้ามีอาการเลือดออกผิดปกติ ก็สามารถตรวจได้ทันที และยิ่งดีเพราะเท่ากับแพทย์จะได้วินิจฉัยว่าเลือดที่ผิดปกตินั้นเกิดจากสาเหตุอะไรกันแน่
- สำหรับคนที่มีปัญหาตกขาวผิดปกติ ไม่แนะนำให้สอดยาเพื่อรักษาก่อนมาตรวจภายใน เพราะจะทำให้ยาค้างอยู่ในช่องคลอด ทำให้ตรวจภายในไม่ได้
- ก่อนตรวจภายในสามารถทานอาหารและน้ำได้ปกติ ไม่จำเป็นต้องงดอาหารและน้ำเหมือนตรวจร่างกาย เพราะไม่มีผลใดๆ กับการตรวจภายใน
- ควรปัสสาวะออกให้หมดก่อนรับการตรวจภายใน เพราะแพทย์จะได้ตรวจขนาดของมดลูกและปีกมดลูกได้อย่างชัดเจน
- งดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนตรวจภายในเป็นเวลาอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจภายในได้
หากตรวจเจอจะรักษาหายได้ไหม
การรักษาโรคนี้ขึ้นกับระยะของโรคโดยมี ทั้งหมด 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 เป็นระยะต้น: แพทย์อาจใช้การผ่าตัด ซึ่งผลการรักษาดีมากโอกาสหายสูงมาก
ระยะที่ 2-3 เป็นระยะกลาง: การรักษาส่วนใหญ่ใช้การฉายรังสีรักษาร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งผลการรักษาดีพอสมควร
ระยะที่ 4 เป็นระยะสุดท้าย: อาจมีการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เช่น ตับ, ปอด, กระดูก เป็นต้น การรักษาส่วนใหญ่ทำได้เพียงแค่ประคับประคองอาการ บำบัดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย ผลการรักษาไม่ดี
วิธีป้องกันมะเร็งปากมดลูก
หนึ่งในวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากมดลูก และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยทุก 3 ปี สามารถตรวจคัดกรองได้โดย แพปสเมียร์ (Pap Smear) ทุก 1 ปี และการตรวจหาเชื้อ HPV เพื่อสังเกตอาการและความปกติของปากมดลูกเรา
วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV จะต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 6 เดือน วัคซีนนี้จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อฉีดให้กับเด็กผู้หญิง หรือสตรีที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ และหากเป็นสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว วัคซีนจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกับผู้ที่ยังไม่มีการติดเชื้อ HPV หรือไม่มีเซลล์ผิดปกติ (โดยวัคซีน HPV สามารถฉีดได้ทั้งชายและหญิงตั้งแต่อายุ 9 ขวบขึ้นไป สามารถป้องกันเชื้อได้ถึง 90%)
มะเร็งปากมดลูกเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้หญิงอย่างเรา ๆ มากกว่าที่คิด หากใครที่มีเวลาว่างการตรวจภายในทุกปีก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ หรืออย่างน้อยการตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี ก็ถือว่าเป็นเรื้่องที่ดีต่อสุขภาพของเราเช่นกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูลจาก:
สสส.
ผศ. นพ.ภุชงค์ ลิขิตธนสมบัติ อาจารย์ประจำ หน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยาโรงพยาบาลรามาธิบดี