Home
|
ข่าว

ส.ส.แห่ค้านร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ซัดกฎหมายล้าหลัง

Featured Image

 

ส.ส.แห่คัดค้านร่าง พ.ร.บ.จริยธรรมสื่อ ซัดกฎหมายล้าหลัง ยัดไส้ ไม่น่าไว้ใจ ขณะ ส.ว.หนุนผ่านร่าง เพื่อจัดระเบียบสื่อให้สื่อ-ประชาชนได้ประโยชน์

 

 

การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นพิเศษ ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นประธานในที่ประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยเปิดให้สมาชิกอภิปรายตามลำดับ อาทิ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า สื่อมวลชนมีทั้งคนดีและไม่ดี ปะปนกัน มาตรฐานสื่อถูกตั้งคำถาม

 

ซึ่งที่ผ่านมา ตนเองต่อต้านการมีกฎหมายจริยธรรมสื่อ เพราะเชื่อว่าสื่อสามารถปกครองดูแลกันเองได้ แต่หลังจากผ่านมา 3 รัฐธรรมนูญเกือบ 20 กว่าปี พบว่าจำเป็นต้องมีการส่งเสริมจริยธรรมและสร้างมาตรฐานวิชาชีพสื่อ เพื่อให้สื่อมวลชนทำหน้าที่แทนประชาชนในการดูแลสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ใช่การทำตามอำเภอใจ แม้ว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มาจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ในฐานะที่เป็นอดีตสื่อมวลชนเห็นว่า สื่อมวลชนมีปัญหาเรื่องมาตรฐานจริยธรรม จึงควรมีกฎหมายดูแลเพื่อกำกับดูแลกันเหมือนกับวิชาชีพอื่น และร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลายเรื่องที่เป็นข้อดีอย่างมาก แต่ก็มีความเห็นสอดคล้องกับผู้ที่คัดค้านในปัญหาของบทเฉพาะกาล หากร่างฉบับนี้ผ่านวาระรับหลักการ ตนจะเข้าไปเป็นกรรมาธิการฯเพื่อปรับปรุงแก้ไขบทเฉพาะกาลเพื่อไม่ให้สื่อถูกมัดมือชก

 

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อภิปรายคัดค้านว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาโดยไม่ชอบ มีรากของลัทธิอำนาจนิยม ร่างมาตั้งแต่สมัยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว เพราะมีความเห็นแบบลัทธิอำนาจนิยมว่าสื่อมวลชนต้องควบคุมได้โดย คสช. รากของร่างนี้จึงไม่บริสุทธิ์ และขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้จะมีเจตจำนงที่ดีแต่เป็นการยัดไส้ข้างใน สื่อมวลชนไม่สามารถไว้วางใจได้ เพราะกฎหมายฉบับนี้ไม่ตรงปก ไม่รู้กาลเทศะ จึงขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกไปก่อนและทำประชาพิจารณ์ให้ชัดเจนมากกว่านี้

 

ขณะนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายตั้งข้อสังเกตว่า ประชาชนทั่วไปที่ใช้โซเชียลมีเดียอย่าง Tiktok จะได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หรือไม่ เพราะร่างดังกล่าว ร่างมานานกว่า 5 ปี ตั้งแต่สมัยยังไม่มีแอปพลิเคชัน Tiktok ซึ่งถือว่า ล้าสมัยแล้ว จึงขอให้รัฐบาลทบทวนและพิจารณาว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่เป็นการครอบงำสื่อ และหากเป็นไปได้ก็อยากให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกไปก่อน

 

ส่วนนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่า สภาวิชาชีพสื่อที่ตั้งขึ้นมาไม่มีกฎหมายรองรับเหมือนสภาวิชาชีพอื่น ด้วยความเป็นแซงก็ไม่ไว้ใจผู้ที่ออกกฎหมาย ว่าออกมาแล้วจะทำให้ขาดอิสระและเสรีภาพ ทำให้ไม่มีกฎหมายเหล่านี้ออกมา

 

ซึ่งตนเองก็พยายามพิจารณาว่า กฎหมายนี้ออกมาปิดหูปิดตาปิดปากสื่อมวลชนอย่างที่มีการพูดกันจริงหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่า การที่กฎหมายออกมาแสดงว่าบ้านเมืองและสังคมมีปัญหาจึงต้องการให้มีกติกาเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ ยืนยันว่า มีสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่อย่างสุจริต แต่ก็มีสื่อบางส่วนที่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย เสียดสีด่าทอใส่ร้ายฝ่ายหนึ่ง เข้าใจว่ากฎหมายก็ช่วยอะไรมากไม่ได้ แต่ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ยังไม่เห็นว่าส่วนใดที่ปิดกั้นปิดปากควบคุมสื่อมวลชน

 

มีแต่ตั้งองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลสื่อมวลชน ส่วนบทลงโทษก็ไม่เห็นมีอะไรที่จะรุนแรง เพียงแต่เป็นกฎหมายที่จัดระเบียบให้สื่อได้รับประโยชน์ ยืนยันว่าไม่ได้เข้าข้างรัฐบาลที่เสนอกฎหมาย แต่มองโลกแห่งความเป็นจริง ทั้งนี้ ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของสื่อมวลชนและต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริงด้วยซึ่งหากจะต้องมีร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ต้องฟังเสียงของสื่อมวลชน

 

 

 

 



 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube