สหภาพกฟผ.บุกทำเนียบ จี้รัฐยุตินโยบาย ที่จะนำไปสู่การแปรรูปทางอ้อม ทำลายรัฐวิสาหกิจ สมดุลย์รัฐ-เอกชน
ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) จำนวน 80 คน นำโดย นางณิชารีย์ กิตตะคุปต์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อขอให้ยุตินโยบายตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 58) โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นผู้แทนฯ รับเรื่องไว้ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยนางณิชารีย์ กล่าวว่า เนื่องจากผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แจ้งมติคณะกรรมการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 58) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับมติเห็นชอบแนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าโดยภาครัฐ ที่ฝ่ายบริหาร กฟผ. จะดำเนินการแยกศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจาก กฟผ.ด้วยเหตุผล คือ แนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าโดยภาครัฐทั้ง 3 ข้อ ต้องการให้ กฟผ.บริหารแบบเอกชน เป็นการแปรรูปทางอ้อม
โดยทำให้ กฟผ. เป็นเอกชนโดยปริยาย บทบาทหน้าที่ของ กฟผ. จะเปลี่ยนไป ความมุ่งหมายขององค์กรก็เปลี่ยนไป จากทำเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน เป็นการมุ่งกำไร ซึ่งขัดต่อ พรบ.กฟผ. พ.ศ. 2511 มาตรา 41 ในการดำเนินกิจการของ กฟผ. ให้คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน
ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ามีบทบาทหน้าที่ มีอำนาจควบคุมด้านความมั่นคงและความเป็นธรรมของระบบไฟฟ้าของประเทศ เป็นการควบคุมที่มีผลประโยชน์ ปัจจุบันรัฐมีนโยบายเอื้อประโยชน์เอกชน องค์กรนิติบุคคลใหม่ถึงแม้ว่าจะเป็นองค์กรของรัฐก็ย่อมให้ประโยชน์แก่เอกชน ในกิจการไฟฟ้าเมื่อเอื้อต่อเอกชนมากเกินไปย่อมเป็นการทำลายรัฐวิสาหกิจ อันเป็นการทำลายผลประโยชน์ของชาติและประชาชน และตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน ในมาตรา 8(5)
ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นผู้ประกอบกิจการระบบส่งไฟฟ้า โดยที่ระบบส่งไฟฟ้าครอบคลุมไปถึงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน ความพยายามในการแยกศูนย์ควบคุม ฯ จึงเป็นเรื่องผิดปกติ
นอกจากนี้ สร.กฟผ. ไม่เห็นด้วยกับมติที่เห็นชอบให้ยกเลิกการใช้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง และให้เปลี่ยนมาใช้ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ เป็นเกณฑ์วัดความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพราะว่าเป็นการบิดเบือนหลอกลวงประชาชน หลบเลี่ยงคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ จากแนวนโยบายในการกำกับดูแลการผลิตไฟฟ้าโดยภาครัฐดังกล่าว เป็นการทำลายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นทำลายความสมดุลย์ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน เมื่อรัฐพยายามทำลายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นภาครัฐ ก็เป็นการทำลายระบบเศษฐกิจ ท้ายที่สุดจะมาซึ่งการขูดรีดประชาชนด้วยการค้ากำไรเกินควรของภาคเอกชน จึงขอให้ยุตินโยบายตามแนวนโยบายดังกล่าว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews