Home
|
อาชญากรรม

อย่ากังวลซีเซียม-137 ไม่ร้ายแรงเท่าภัยพิบัติเชอร์โนบิล

Featured Image
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ วอน อย่าวิตกกังวลกับซีเซียม-137 มากเกินไปนัก ลั่น อย่าเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติเชอร์โนบิล เพราะต่างกันเยอะ

 

 

 

วันนี้ (20 มี.ค. 66) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่วัตถุบรรจุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ถูกพบในโรงหลอมเหล็ก ภายใน อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งประชาชนมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพว่า การได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากสารซีเซียม-137 จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสาร ระยะเวลาที่สัมผัส และวิธีการสัมผัส

 

 

ทั้งนี้ สารกัมมันตรังสี มีทั้งประโยชน์และความอันตราย ซึ่งทางการแพทย์ใช้เพื่อรักษาโรค เช่น โรคมะเร็งบางชนิด แต่ด้วยค่าชีวิตยาวของสารซีเซียมยาวเกินไปและการกำจัดยาก จึงไปใช้สารโคบอลต์ ที่มีครึ่งชีวิต 5 ปี แต่หลัง ๆ เราเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทนแล้ว ทำให้ทางการแพทย์ใช้สารกัมมันตรังสีน้อยลงมากและมีการกำจัดอย่างถูกต้อง แต่ครั้งนี้เป็นการที่ถูกขโมยไป ซึ่งหากอยู่ในกระบอกบรรจุก็ไม่มีอันตราย แต่หากถูกหลอมแล้ว จะขึ้นอยู่กับวิธีการหลอม หากใช้ความร้อนสูงมากสารก็จะสลายไป แต่ที่น่ากังวลคือ เศษฝุ่นที่มีซีเซียมติดอยู่ก็อาจกระจายออกไป ซึ่งต้องให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติตรวจวัดสารดังกล่าวในสิ่งแวดล้อม

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า เนื่องจากสารซีเซียมไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงเป็นเรื่องยากที่จะรู้ว่ารับสารเข้าสู่ร่างกายแล้ว แต่สังเกตได้จากอาการป่วยที่มีประวัติสัมผัสสารร่วมด้วย ก็ต้องพบแพทย์เพื่อสอบสวนโรค ส่วนเรื่องการรักษาขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารที่ได้รับ ถ้ารับมามากและโดนอวัยวะสำคัญ ซึ่งก็อาจเสียชีวิตได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หากไปกดไขกระดูกก็จะกระทบต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ก็จะเริ่มเกิดโรคติดเชื้อได้ง่าย ถ้าถูกผิวหนังเซลล์ก็จะถูกทำร้าย หรืออาจไปกระตุ้นเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ไปจนถึงการเกิดมะเร็งได้ แต่ทั้งนี้เราต้องติดตามว่าซีเซียม-137 นี้ฟุ้งกระจายไปไกลแค่ไหน

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า สำหรับความกังวลถึงการแถลงข่าว ที่ จ.ปราจีนบุรี พบฝุ่นในโรงงานหลอมเหล็กที่มีซีเซียมปนเปื้อนนั้น หากมีปริมาณโมเลกุลที่เล็กมากก็จะมีผลต่อร่างกายน้อยลง ซึ่งมีคนนำเหตุการณ์นี้ไปเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ภัยพิบัติเชอร์โนบิล กรณีนี้ยังต่างกันเยอะ

 

อย่างไรก็ตาม จะต้องติดตามอาการป่วยของผู้สัมผัสในโรงงานหลอมต่อไป ขณะที่คนภายนอกก็ต้องเฝ้าระวังอาการป่วยต่างๆ ส่วนจะติดตามนานแค่ไหนยังไม่สามารถบอกได้ชัด แต่อย่าวิตกกังวลมากเกินไปนัก เนื่องจากไทยได้ร่วมกับประชาคมโลกในการออกพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ.2559 ดังนั้น จะมีวิธีการปฏิบัติเขียนไว้อย่างชัดเจน ซึ่งการแพทย์เราก็เฝ้าระวังด้านสุขภาพ

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube