มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผย ผลสำรวจภาคธุรกิจห่วงต้นทุนผลิตพุ่งฉูดเศรษฐกิจ จีนเข้าไทยเป็นปัจจัยบวกดันเม็ดเงินท่องเที่ยว
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจต่อภาคธุรกิจไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ตัวอย่างทั่วประเทศ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการภาคธุรกิจ พบว่า สถานะทางธุรกิจของผู้ประกอบการยังคงใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา โดยมียอดขาย รายได้ กำไรค่อนข้างทรงตัว แต่สภาพคล่องรวมถึงการลงทุนลดลง
เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น หรือภาพธุรกิจมองว่าสภาพของธุรกิจจะสามารถปรับตัวเท่ากับในช่วงก่อนโควิด 19 ได้ประมาณไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยบวกที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากมีเม็ดเงินเข้าประเทศมากขึ้น ส่งผลกับการจ้างงานและการลงทุนที่จะฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับการเลือกตั้งจะเป็นอีกปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ คือ การขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นผลมาจากทั้งราคาสินค้า และราคาวัตถุดิบในการผลิตสินค้าสูงขึ้น การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นและมีโอกาสที่จะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น การปรับค่าแรงขั้นต่ำสูงขึ้น หากเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 มีโอกาสที่นายจ้างจะปลดคนงานได้ จึงอยากให้ภาครัฐมีการทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสม การปรับเพิ่มขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้าจากเดิมมาอยู่ระดับปัจจุบันที่ 5.33 บาทต่อหน่วย
ถือเป็นต้นทุนที่สูงของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs หากเป็นไปได้อยากให้ปรับค่าไฟลงมาเท่ากับในช่วงก่อนโควิด 19 หรือต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วย หากไม่สามารถลดลงได้อาจจำเป็นต้องมีการชะลอการลงทุน รวมถึงราคาดีเซลที่มีการปรับราคาสูงขึ้นเกินลิตรละ 30 บาทมีผลทำให้ผู้ประกอบการยอดขายลดลง ต้นทุนสูงขึ้น และไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้อีก
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังกังวลต่อนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่นำมาหาเสียงในเวลานี้ เพราะบางเรื่องส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะนโยบายการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าชนะการเลือกตั้งและนำมาใช้จริง ผู้ประกอบการอาจไม่สามารถรับไหว โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ คือต้องมีการดูแลต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้ดี โดยเฉพาะราคาพลังงาน อัตราดอกเบี้ย ค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องมีการบริหารให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมไม่เป็นภาระของผู้ประกอบการมากจนเกินไป เพราะเวลานี้ภาระต้นทุนของผู้ประกอบการสูงอยู่แล้วการแบกรับภาระเพิ่มขึ้นไม่สามารถทำได้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews