“กิตติรัตน์” เติมเงินดิจิทัล 1หมื่น คิดใหญ่ทำเป็น
“กิตติรัตน์” เติมเงินดิจิทัล 1หมื่น ใส่กระเป๋าเงินคนไทย คิดใหญ่ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง มาตรการเติมเงินดิจิทัลว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นอีกครั้งและมาตรการนี้ เป็นหนึ่งในชุดนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่จะดำเนินการเพื่อหยุดยั้งสถานการณ์ที่เลวร้าย กระตุ้นหัวใจ จากการบริหารด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดก่อน จนประเทศป่วยเรื้อรังดังนั้นการ “หยอดน้ำข้าวต้ม” หรือ “แจกเงิน” แบบกระปริบกระปรอยแบบที่เคยทำมา จึงไม่ทำให้ประเทศฟื้นตัว และคนไทยส่วนใหญ่หลุดพ้นความยากจนไม่ได้
ในฐานะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เห็นว่า มาตรการกระตุ้นด้วยการเติมเงินดิจิตอลของพรรคเพื่อไทยนี้ นอกจะสามารถป้องกันเศรษฐกิจจากความเสี่ยงที่จะซวนเซจนยากที่จะแก้ไขแล้วยังเป็นการสร้างความพร้อมให้กับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินการนี้ ยังประกอบด้วยชุดนโยบาย และมาตรการของพรรคเพื่อไทย ในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) เพิ่มประสิทธิภาพ(Efficiency) และเพิ่มประสิทธิผล (Effectiveness) ของทุกภาคส่วนอย่างสอดประสานกัน ทั้งด้านอุปสงค์ (Demand Side)
ที่ประกอบด้วย การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การลงทุนของภาคเอกชนดุลการส่งออก การท่องเที่ยว การบริการ และการใช้จ่ายของภาครัฐ คู่ขนานกับการทำงานอย่างหนัก ด้านอุปทาน (Supply Side) ของภาคอุตสาหกรรม ภาคการพาณิชย์ ภาคบริการ และภาคการเกษตรซึ่งย่อมเป็นไปตามแนวทางหลักของพรรคเพื่อไทย
คือลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส; ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้; เพิ่มรายได้จากการส่งออก และการท่องเที่ยว; เพิ่มผลิตภาพแรงงานจนค่าแรงขึ้นต่ำและเงินเดือนผู้สำเร็จการศึกษาเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับเป้าหมายในเวลาที่กำหนด; และเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า จากราคาดี ผลผลิตเพิ่ม – ต้นทุนลด
อย่างไรก็ตาม แผนสร้างการเจริญเติบโต GDP ของพรรคเพื่อไทย ให้ถึงและเกินอัตราที่จำเป็น คือปีละ 5% อย่างมีการกระจายรายได้ที่ดี และมีเสถียรภาพของราคาสินค้า ย่อมทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะ / GDP ดีขึ้น; สัดส่วนหนี้ครัวเรือน / GDP ดีขึ้น; ภาคธุรกิจทั้งรายย่อย รายใหญ่มีกำไร และเติบโต; ผู้คนมีงานทำ ค่าแรงและค่าตอบแทนจากการทำงานสูงขึ้น; ความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือนของภาคประชาชนดีขึ้นเรื่อยๆ; รัฐบาลมีรายได้เพื่มขึ้น ความสามารถในการเพิ่มงบประมาณ ทั้งเพื่อชำระหนี้ และเพื่อรายจ่ายรวม ที่ครอบคลุมสวัสดิการต่างๆ จะดีขึ้น และความสามารถในการชำระ “หนี้สาธารณะของภาครัฐ” จะดีขึ้น
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews