ปธ.กกต.ยันไม่ปล่อยคนทุจริตลต.-ไม่มีปล่อยผีไปก่อนแน่
“อิทธิพร” ยันกกต.ไม่ปล่อยคนทำทุจริตเลือกตั้ง ส.ส. ชี้กรอบ 60 วันหลังเลือกตั้ง ไม่มีผลต่อการสืบสวน ไม่มีปล่อยผีเร่งให้ตั้งรัฐบาลก่อน
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการสืบสวนทุจริตการเลือกตั้งว่า ขณะนี้มีเรื่องการซื้อเสียงเข้ามาจำนวน 8 เรื่อง และ 15 เรื่องเป็นการหาเสียงหลอกลวง โดยมาตรการการป้องกันกกต.ได้มีการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง 423 คน ซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งจะมีผู้ช่วย 1 คน นอกจากนี้ยังมีชุดเคลื่อนที่เร็วของตำรวจ ที่จะปฏิบัติหน้าที่ 15 วันก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นกลไกที่ช่วยป้องกันการทุจริตได้ อีกทั้งครั้งนี้มีอาสาสมัครที่มาจาก ไอลอว์ และวีวอช เข้ามาช่วยจะทำให้หูตาของเรากว้างขวางยิ่งขึ้น จะช่วยป้องกันในระดับหนึ่ง ทั้งนี้อยากเชิญชวนประชาชนร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพราะถ้าท่านมีข้อมูลเบาะแสแล้วแจ้งต่อกกต. หากนำไปสู่การพิพากษาว่ามีการกระทำความผิด กกต.มีเงินรางวัลชี้เบาะแสในกรณีถ้าพบการกระทำความผิดของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. 300,000 – 1,000,000 บาท
ส่วนกรณีการแจกใบส้ม ใบเหลืองกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. นั้น ถ้าหาก กกต.พบความปรากฏ และมีพยานหลักฐานอันทำให้เชื่อว่ามีการทุจริตและยังไม่ได้ประกาศผล กกต.สามารถแจกได้ ทั้งนี้ กกต.ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะให้ใบส้มกับใคร กกต.ตัดสินตามพยานหลักฐานตามระเบียบว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนของ กกต. และมีการตั้งข้อสังเกตว่ากกต.อาจไม่กล้าแจกใบส้ม เนื่องจากมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้ กกต.ชดใช้ค่าเสียหายของนายสุรพล เกียรติไชยากร ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 นายอิทธิพร กล่าวว่า กกต.พิจารณาเรื่องนี้บนข้อมูลหลักฐานในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อวินิจฉัยแล้วผลที่จะตามมาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับ
ขณะเดียวกัน กกต.จะพิจารณาเหตุทุจริตทันก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า จะทันหรือไม่ก็ไม่กระทบต่อการดำเนินการของ กกต. เพราะว่าจะเชื่อมโยงต่อการประกาศผลการเลือกตั้งที่จะต้องประกาศภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้ง ถ้าสอบสวนไม่ทันก็สามารถสอบสวนต่อได้ ซึ่งการสอบสวนหลังการประกาศผลการเลือกตั้งจะไม่ได้แจกใบส้มแต่จะต้องแจกใบแดงแทนซึ่งศาลฎีกาจะเป็นผู้ตัดสิน
ทั้งนี้ หากครบ 60 วันแล้ว พิจารณาเรื่องร้องเรียนไม่ทัน จะต้องปล่อยผีไปก่อนใช่หรือไม่เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาล นายอิทธิพร กล่าวว่า คงปล่อยแบบนั้นไม่ได้ เพราะว่าจะเป็นการละเลยหน้าที่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน และกระบวนการทำงานของเรา เช่น ถ้ามีคำร้องแล้วกกต.ไปพบเหตุ เรื่องต้องตั้งต้นจากคณะสืบสวน ไต่สวนของจังหวัดก่อน ถ้ามีพยานหลักฐานชัดเจนผอ.กกต.จังหวัดสามารถเสนอความเห็นประกอบส่งมาที่ส่วนกลาง ซึ่งส่วนกลางจะพิจารณาว่ามีความเห็นอย่างไรต่อความเห็นของกกต.จังหวัดดังกล่าวที่เสนอความเห็นมา
จากนั้นสำนักงานกกต.กลาง ก็เสนอความเห็นมาให้กกต.พิจารณาวินิจฉัย ซึ่งหากเป็นเรื่องเร่งด่วนก็จะพิจารณาทันที แต่หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนต้องสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติม ก็จะส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการฯพิจารณาก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่กกต.เร่งหรือไม่เร่งดำเนินการ แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการและพยานหลักฐานที่มีอยู่
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews