คุ้มจริงไหม? หนุนโซลาร์เซลล์แก้ไฟแพง
ยังคงเป็นประเด็นต่อเนื่องสำหรับปัญหาค่าไฟฟ้าที่แสนแพง จนรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยงข้องต้องออกมาชี้แจง
และแม้ล่าสุด กกพ.จะมีมติปรับลดค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดใหม่สำหรับเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ลง 7 สตางค์/หน่วย จากมติเดิม 4.77 บาท/หน่วย เป็น 4.70 บาท/หน่วย แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เพียงพอ
ขณะที่พรรคการเมืองเองก็ออกมาหาเสียงชูนโยบายลดค่าไฟฟ้า และก็มีหลายๆ พรรคที่นำเสนอการใช้พลังงานธรรมชาติอย่างโซลาร์เซลล์ เพื่อมาแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง เช่น พลังประชารัฐที่เปิดตัวนโยบายโซลาร์ประชารัฐ,ก้าวไกลที่สนับสนุนให้ประชาชนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้อิสระ ,ภูมิใจไทยที่ให้ทุกครัวเรือนในไทยมีแผงโซลาร์เซลล์ใช้งานได้ฟรี ซึ่งการติดตั้งโซลาร์เซลล์นั้น จะสามารถช่วยแก้ปัญหาราคาค่าไฟแพงได้หรือไม่?
สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ได้พูดคุยกับ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่ง นายพรายพล ได้ให้ความเห็นถึงประเด็นดังกล่าวว่า การนำโซลาร์เซลล์มาใช้ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แม้ว่าจะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูงก็ตาม สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ และยังมีข้องจำกัดในเรื่องของการผลิต ก็อาจจะเป็นเรื่องในอนาคต
“ตัวโซลาร์เซลล์เองต้นทุนลงทุนค่อนข้างสูงก็จริง แต่ว่ามันก็มีแนวโน้มที่จะลดลง ข้อจำกัดของโซลาร์เซลล์ก็คือ เรื่องของเสถียรภาพของการผลิต แต่ว่ามันก็ยังมีดัสเตอรี่เข้ามาช่วย ซึ่งก็ราคาดัสเตอรี่มันก็ยังแพงอยู่ถ้าว่ากันตามจริง ถ้ารวมระบบดัสเตอรี่เข้าไปแนวโน้มต้นทุนอาจจะพอสู้ได้ กับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
แต่ว่าก็คงยังไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้ ก็อาจจะเป็นเรื่องในอนาคต แต่ว่าก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะว่าถ้าเราลงทุนไปแล้ว อายุใช้งานมันก็ 20-30ปี เพราะต้นทุนมันสามารถที่จะลดลงได้ มันก็มีโอกาสที่จะทำให้ค่าไฟลดลงได้ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ข้อสำคัญที่ดีอีกอันหนึ่งก็คือ มันเป็นพลังงานสะอาด ไม่ต้องใช้วัตถุดิบอื่นเลย ใช้แสงแดดซึ่งเราก็มีอยู่ค่อนข้างเยอะ แล้วก็ดีต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน ”
ทั้งนี้เมื่อถามว่าประเทศไทยเหมาะสำหรับการนำโซลาร์เซลล์มาใช้หรือไม่ นายพรายพล กล่าวว่า เหมาะสม เพราะลักษณะของประเทศสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ในหลายพื้นที่ ซึ่งปริมาณแดดของประเทศไทยก็อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถที่จะทำเป็นเชิงธุรกิจได้ แต่หากจะให้มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตไฟฟ้าอาจจะยังไม่ถึงเวลา
“เหมาะแน่นอนอยู่แล้ว เหมาะมากกว่าพลังงานลมด้วยซ้ำไป เพราะพลังงานลมบ้านเราเท่าที่สำรวจกันมาก็เป็นบางจุดของประเทศเท่านั้นเอง ไม่เหมือนกับโซลาร์เซลล์ ซึ่งจริงๆน่าจะติดที่ไหนในประเทศก็ว่าได้นะ ปริมาณแดดของเราก็ใช้ได้ ก็อยู่ในเกณฑ์ที่สามารถที่จะทำเป็นเชิงธุรกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน แต่ว่าถ้าจะให้มาเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตไฟฟ้า เพื่อที่จะทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลมากๆ อาจจะยังไม่ถึงเวลานั้น แต่ว่ามีแนวโน้มเป็นไปได้ ”
จากนี้ต่อไปคงต้องติดตามการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเป็นไปในทิศทางใด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews