“ได้ครับ/ได้ค่ะ” คำตอบติดปากของใครหลาย ๆ คนที่มักตอบกลับอัตโนมัติแต่มารู้สึกไม่ดีทีหลังเพราะบางครั้งเราก็อยากที่จะปฏิเสธ แต่ใจดันไม่กล้าซะงั้น อาจจะเพราะความเกรงใจหรืออะไรก็แล้วแต่ การกล้าที่จะปฏิเสธอาจนำผลดีมากได้มากกว่าที่คิด
การปฏิเสธจะช่วยให้เรามีอิสระมากขึ้น
หลาย ๆ ครั้งที่ตอบตกลงไปแต่ใจไม่อยากทำ และรู้สึกแย่หรือหนักใจ หรือแม้กระทั่งในหน้าที่การงานที่เรามักตอบรับภาระงาน ได้ครับ/ได้ค่ะ จนทำให้บางครั้งงานเราหนักเกินความจำเป็น ทั้ง ๆ ที่อาจมีทางออกที่ดีกว่า หรือสิ่งนั้น ๆ อาจไม่ใช่หน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบ เพราะฉะนั้นการปฏิเสธ จะช่วยให้เราได้มีอิสระในการตัดสินใจ หรือเพิ่มเวลาในการทำอย่างอื่นได้มากขึ้น โดยไม่ต้องฝืนทำตามคำรับปากที่เคยให้ไว้แบบไม่ได้ตั้งใจ
จริงอยู่ที่การปฏิเสธไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน แต่การเปลี่ยนแปลงล้วนเกิดขึ้นได้เสมอ เราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า ไม่ ในการปฏิเสธเท่านั้น การเก็บมาคิดก่อนตัดสินใจ หรือการใช้คำที่ไม่แข็งทื่อจนเกินไป ก็สามารถนำมาสู่การปฏิเสธที่ดีได้ อีกทั้งยังทำให้เราซื่อสัตย์กับการตัดสินใจของตัวเองด้วย
ปฏิเสธอย่างไรให้ถนอมน้ำใจได้ทั้งคู่
ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้จักที่จะนึกถึงความรู้สึกของตัวเองให้มากพอ ว่าการปฏิเสธนี้จะเป็นผลดีกับเรา และเป็นสิ่งที่สมควรต่อการปฏิเสธ การใช้คำว่า ไม่ อาจจะไม่ได้กระทบบรรยากาศไปซะหมด ดังนั้นควรมีภาษากายเพื่อชี้ให้เห็นเจตนาผ่านความสุภาพออกไปให้ได้เข้าใจตรงกันทั้งสองฝ่าย หรือสำหรับใครที่ไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร วันนี้เรามีวิธีในการปฏิเสธมาเป็นตัวช่วย
5 แนวทางการปฏิเสธอย่างไรให้สุภาพ
1.ฝึกพูดปฏิเสธให้ชินปาก
อาจเตรียมประโยคที่ใช้สำหรับปฏิเสธไว้เพื่อใช้ในแต่ละสถานการณ์ และกล้าที่จะพูดเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องปฏิเสธ จะฝึกพูดนี้จะช่วยให้กล้าที่จะใช้คำปฏิเสธอย่างตรงไปตรงมา
2.เสนอแนวทางใหม่ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิเสธตรง ๆ
การปฏิเสธที่มักใช้ได้อีกทางคือการเสนอแนวทางใหม่ที่ดีกว่า หรือชี้ให้เห็นทางที่จะนำมาซึ่งสิ่งที่ผู้ขอต้องการได้มากกว่า และจะเป็นผลดีกว่าถ้าเราไม่ได้รับปากช่วย เช่น มีคนขอให้ทำงานแทนให้ อาจแจ้งว่า ตอนนี้งานยังเยอะอยู่เลย อาจทำให้ได้ช้ามาก ๆ เลยนะ หรือ เราอาจจะทำได้ไม่ดีเท่า ไม่ค่อยมีเวลาด้วย เดี๋ยวงานจะเสร็จไม่ทัน เป็นต้น
3.‘ขอเก็บไว้คิด’ ก่อนตอบกลับหากไม่สามารถตัดสินใจที่จะช่วยได้ทันที
บางครั้งที่เรามักพูดว่า ได้ ในทันที หรือ ไม่ ในทันที การขอเก็บมาคิดดูก่อน ก็เป็นอีกทางที่จะช่วยให้เรามีเวลาตัดสินใจ และอาจเป็นการปฏิเสธทางอ้อมที่ดีอีกทางหนึ่ง อีกทั้งผู้ขอได้มีเวลาในการหาตัวเลือกอื่นอีกด้วย
4.ขอบคุณ และขอโทษ
การขอบคุณและขอโทษ จะช่วยแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในเรื่องที่ขอ แต่ก็รู้สึกเสียใจที่ไม่ได้สามารถทำตามคำขอนั้น ๆ ให้ได้ เช่น ขอบคุณมาก ๆ เลยที่ชวน แต่วันนั้นดันติดธุระพอดี อาจไปช่วยไม่ได้นะ เป็นต้น
5.อย่าลังเลที่จะปฏิเสธซ้ำ ๆ
บางคนอาจเป็นคนใจอ่อน เมื่อถูกขอร้องซ้ำ ๆ ก็มักจะไม่กล้าปฏิเสธและยอมรับข้อเสนอมาอย่างไม่ได้เต็มใจ จนทำให้รู้สึกกดดัน และอึดอัดในการทำงานนั้น ๆ เพราะไม่ได้มาจากความตั้งใจนั่นเอง ดังนั้นจงอย่าลังเลที่จะปฏิเสธซ้ำ ๆ เพื่อยืนกรานว่าเราไม่สะดวกจริง ๆ
อย่ากลัวที่จะปฏิเสธ หากต้องทำให้เรากังวลในการตอบรับนั้น ๆ จำไว้ว่าการปฏิเสธเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ อย่างวลีที่ว่า It’s ok to say no ก่อนตอบรับหรือปฏิเสธสิ่งใดควรคิดถึงข้อดี-ข้อเสีย หรือผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ดีก่อน การช่วยผู้อื่นเป็นเรื่องที่ดี แต่หากการช่วยเหล่านั้นจะทำให้เรารู้สึกแย่ การปฏิเสธก็เป็นทางออกที่ดีเหมือนกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews
ขอบคุณข้อมูลจาก