ทำต่อก็ดี ไม่ชอบก็หยุด “ประกันรายได้”
หลายนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่หลายเสียงเห็นว่ามีประโยชน์ แต่ยังไม่เห็นแนวทางของรัฐบาลใหม่ ว่าจะสานต่อหรือไม่ หรือมีมาตรการใดเข้ามาช่วยดูแล นั่นคือภาคเกษตรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ 4 ปีกับโครงการประกันรายได้ช่วยเติมเงินในกระเป๋า 2 ทางให้กับเกษตรกรกำลังจะหมดไป
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกพืช 5 ชนิด ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ไม่มีผลผูกพันกับรัฐบาลใหม่ จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่ว่าจะสานต่อนโยบายนี้หรือไม่ ซึ่งหากสานต่อก็สามารถดำเนินการต่อได้ทันทีตามกระบวนการที่ได้ทำมาตลอด 4 ปี และถือว่าประสบความสำเร็จ ไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น หรือเงินตกหล่น เพราะ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ได้โอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง
แต่หากไม่มีการสานต่อ โครงการประกันรายได้เกษตรกรก็จะยุติลง ทำให้เกษตรกรมีรายได้ทางเดียวจากการขายสินค้าเกษตรตามราคาตลาด หากราคาดีเกษตรกรก็มีรายได้ที่ดี แต่ถ้าหากราคาตกต่ำรายได้น้อยลงก็จะไม่มีเงินชดเชยส่วนต่างให้ ซึ่งโครงการที่ยังค้างอยู่ เหลือเพียงการจ่ายเงินประกันรายได้ ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอีก 2 งวด หากจะมีการพิจารณาในงวดต่อไป จะต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ซึ่งคงไม่ใช่รัฐบาลชุดนี้ และสำหรับพืชเกษตรชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่โครงการสิ้นสุดลงแล้ว
การสานต่อโครงการต่างๆของรัฐบาลชุดใหม่ ถือเป็นสิทธิ์โดยชอบในการจะเลือกดำเนินนโยบาย ซึ่งต้องผูกพันกับสิ่งที่หาเสียงไว้ และผูกพันหลังมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาฯ โดยอยากย้ำว่ารัฐบาลปัจจุบันได้ทำงานเต็มที่แล้ว จะเห็นได้จากราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นทุกรายการ และในช่วงโครงการปีที่ 4 พืชหลายชนิด ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยสามารถประหยัดงบประมาณของภาครัฐไปได้มาก
และหากเปรียบเทียบโครงการประกันรายได้ กับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตร นั้น อยากย้ำว่าไม่ได้มีเจตนาจะวิจารณ์พรรคการเมือง แต่โครงการรับจำนำจะมีภาระมากกว่า เพราะรัฐต้องมีการเช่าโกดังเพื่อจัดเก็บสินค้า รวมทั้งดูแลไม่ให้เสื่อมสภาพ และมีช่องให้เกิดปัญหาทุจริต โดยที่ผ่านมามีบทเรียนแล้ว และปัญหาก็ยังไม่จบสิ้นจนถึงขณะนี้ แต่ด้วยผลการเลือกตั้ง คงต้องยอมรับหากจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ก็แล้วแต่ว่าจะนำนโยบายไปใช้กับคนกลุ่มใด เพราะหากเป็นเกษตรกรแค่มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะด้วยนโยบายใด ก็อาจรับได้
แต่หากเป็นผู้ส่งออกคงไม่ถูกใจนัก โดยเฉพาะผู้ส่งออกข้าว เพราะที่ผ่านมาต้องเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งไปมาก โดยนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า เพราะข้าวไทยมีราคาสูงจากโครงการรับจำนำ ที่ถือว่าเป็นการบิดเบือนโครงสร้างราคาไปมาก จนไม่สามารถแข่งขันได้ และกว่าจะมีการสะสางทำให้สต๊อกข้าวหมดไป กลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง ไทยก็เสียแชมป์ส่งออกข้าวไปแล้ว กว่าจะตั้งรับได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงไม่ควรนำโครงการรับจำนำข้าวที่บิดเบือนกลไกราคาบิดเบือนกลไกตลาดกลับมาอีกครั้ง แต่หากเลี่ยงไม่ได้ คราวนี้ผู้ส่งออกคงต้องคิดหนัก ว่าจะเดินหน้าธุรกิจต่อหรือพอแค่นี้
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews