Home
|
ภูมิภาค

นายกฯร่วมยินดีราชภัฏแกนนำขับเคลื่อนโคราช

Featured Image
นายกรัฐมนตรี ร่วมยินดีราชภัฏโคราช แกนนำขับเคลื่อนโคราช เป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก แห่งที่ 2 ของไทย

 

 

 

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช , ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และคณะกรรมการอุทยานธรณีโคราช

 

 

เดินทางเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวานนี้ (6 มิถุนายน 2566) ที่ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อประชาสัมพันธ์เรื่อง “อุทยานธรณีโคราช” ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks) ซึ่งมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมแสดงความยินดี

 

 

สืบเนื่องจากคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้รับรองผลการพิจารณาและเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ UNESCO อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ให้อุทยานธรณีโคราช เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ต่อจากอุทยานธรณีสตูล จังหวัดสตูล ที่ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโกแห่งแรกของไทย

 

 

ซึ่งในโอกาสนี้ Mr. Libing Wang Director UNESCO Multisectoral Regional Office in Bangkok ได้มอบเอกสารรับรอง UNESCO Global Geopark แด่นายกรัฐมนตรี จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ส่งมอบต่อให้กับนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งมอบเอกสารแสดงความยินดีให้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ในโอกาสที่อุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองจากยูเนสโก

 

โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานและกล่าวขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ที่ได้ร่วมมือกันผลักดันและดำเนินการให้อุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก ทั้งในด้านแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีที่มีคุณค่า ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกและนำรายได้เข้าสู่ประเทศมากยิ่งขึ้น โดยขอขอบคุณในนามประเทศไทยและในนามรัฐบาลไทยที่ทุกฝ่ายมีส่วนช่วยดำเนินการสนับสนุนให้เป็นอุทยานธรณี (Geopark)

 

 

เพิ่มขึ้นเป็นแห่งที่ 2 จากที่มีอยู่แล้วเดิมคือที่จังหวัดสตูล ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ จึงขอให้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ เร่งรัดดำเนินการด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมการพัฒนาต่อยอดในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สร้างเครือข่ายท่องเที่ยวเชื่อมโยงการพัฒนาสู่ชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน พร้อมต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิชาการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงธรณี และขอให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ

 

 

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนคนไทยร่วมยินดีและภาคภูมิใจด้วยการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับนักท่องเที่ยว ให้เกิดความประทับใจ และขอความร่วมมือคนไทยทุกคนร่วมกันดูแลรักษาพื้นที่ให้คงความอุดมสมบูรณ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแก่คนทุกเพศทุกวัย รวมไปถึง การมีส่วนร่วมของชุมชนช่วยกันดูแลและพัฒนาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาและเชิงวัฒนธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ เกิดการสร้างงานใหม่ สร้างรายได้ในชุมชน ผ่านการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย

 

สำหรับอุทยานธรณีโคราช มีพื้นที่ครอบคลุม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอขามทะเลสอ อำเภอสูงเนิน และอำเภอสีคิ้ว รวมเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 3,167 ตารางกิโลเมตร สภาพพื้นที่บ่งบอกหลักฐานการยกตัวของแผ่นดินอีสาน จนเป็นเทือกเขาหินทรายรูปสันอีโต้ที่มีความยาวและมีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น เป็นภูมิประเทศที่สวยงาม มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ช้างจำนวนสกุลมากที่สุดในโลก 10 สกุล มีแหล่งซากดึกดำบรรพ์ช้างโบราณที่มีความหลากหลาย รวมทั้ง มีการค้นพบฟอสซิลสัตว์สกุล/ชนิดใหม่ของโลกหลายชนิด เช่น จระเข้ แรด ไดโนเสาร์ เต่า และลิงไร้หาง และยังพบฟอสซิลไดโนเสาร์มากกว่า 1,000 ชิ้น ฟันมากกว่า 300 ชิ้น

 

 

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินสมัยไพลสโตซีนตอนต้นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีโบราณสถาน วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นจำนวนมาก โดยในปัจจุบัน จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมือง UNESCO Triple Heritage City คือมีพื้นที่รับรองจากยูเนสโกรวม 3 พื้นที่ ได้แก่ 1.พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช ยูเนสโกรับรองปี พ.ศ. 2519 , 2.พื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ยูเนสโกรับรองปี พ.ศ. 2548 และ 3. พื้นที่อุทยานธรณีโลก ยูเนสโกรับรองปี พ.ศ. 2566

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube