จับตาเศรษฐกิจไทยในห้วงจังหวะรอรัฐบาลใหม่ “พิธา” คือ นายกฯ หรือ “เพื่อไทย” จะยืนหนึ่ง
นั่นเพราะหากจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้ และเกิดสุญญากาศทางการเมืองขึ้น ย่อมกระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาตรการต่างๆ ฉุดการเติบโตของ “จีดีพี” ซึ่งเป็นตัวเลขสะท้อนถึงความแกร่งและความเฟื่องฟูของประเทศ
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” นักวิชาการอิสระ ที่ในอดีตนั้นเขาเคยดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ถึง นายกฯ และ รัฐบาลชุดใหม่ที่ยังไม่ชัวร์ว่าใครจะมาเป็น โดย “ศ.ดร.พรายพล” กล่าวว่า ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยหากตั้งรัฐบาลล่าช้า
“ล่าช้าไปก็มีผลต่อเศรษฐกิจธรรมดา เพราะว่า เรื่องการตัดสินใจสำคัญๆ ทางด้านเศรษฐกิจก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ เรื่องของการทั้งโยกย้ายข้าราชการก็ดี การใช้งบประมาณลงทุนก็ตาม การตัดสินใจเรื่องงบประมาณที่จะต้องมีการจัดทำ ก็น่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง มาตรการสำคัญๆ เรื่องของการท่องเที่ยวก็ดี เรื่องของการลงทุน ในบางเรื่องบางอย่างค้างคามาก็ต้องรอ”
“ศ.ดร.พรายพล” กล่าวอีกว่า วันนี้รัฐบาลใหม่ยังไม่เกิดขึ้น แต่ถ้ามีการชุมนุมทางการเมือง ก็จะยิ่งทำให้ได้รัฐบาลช้าเข้าไปอีก
“ก็คงจะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่นะ ขนาดไม่มีรัฐบาลใหม่เข้ามา ก็แย่อยู่แล้ว หากมีความวุ่นวาย ก็ยิ่งสร้างความไม่มั่นใจในหลายๆ ฝ่ายมากขึ้น ต่างชาติโดยเฉพาะอาจจะมองว่า ในที่สุดจะเอายังไงกันแน่ ก็คงจะเป็นข่าวที่ไม่ดี เพราะว่า รัฐบาลก็ยังไม่มีความแน่นอน แล้วก็ยังการชุมนุมกัน ความวุ่นวายเกิดขึ้น วุ่นวาย เมื่อไรก็เกิดความขัดแย้ง ก็จะยิ่งให้การได้รัฐบาลใหม่ยิ่งช้าหนักเข้าไปอีก ผมเกรงว่าจะเป็นอย่างนั้น”
ขณะที่ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า วันที่ 19 มิ.ย.66 กกต. เตรียมพิจารณารับรอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พร้อมกับ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หลังได้พิจารณาไปแล้วทั้ง 400 เขตเลือกตั้ง ว่าเขตใดมีคำร้องคัดค้านและไม่มีคำร้อง
ซึ่งล่าสุดมีเอกสารของ กกต. หลุดออกมาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย จำนวน 3 หน้ากระดาษ อ้างว่าเป็นเอกสารประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตเลือกตั้ง ครั้งที่ 1 มีการรับรองว่าที่ ส.ส. 329 คน และอีก 71 คน จาก 8 พรรคการเมืองใน 37 จังหวัดยังไม่รับรอง หลังถูกร้องคัดค้านผลเลือกตั้ง โดยคาดว่าจะประกาศรับรอง ส.ส.ได้ในวันที่ 21 มิ.ย. 66 ต่อมา คือการเปิดสมัยประชุมสภา ซึ่งต้องใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน
หลังจากนั้น คือกระบวนการเลือกประธานสภา และ วาระสำคัญที่สุด คือ การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยผู้ที่จะผ่านการคัดเลือกต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวม 750 คน หมายความว่าต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุน 376 คน ขึ้นไป
ซึ่งเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีการลมมติข้อตกลง MOU ร่วมกันมีเพียง 313 เสียงซึ่งขาดอีก 63 เสียงถึงจะมีคะแนนเสียงสนับสนุนเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งต้องเพิ่งพา สว.ทั้ง 250 คน ดังนั้นหากเวลาดำเนินไปจนถึงวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว คะแนนเสียงสนับสนุนไม่ถึง 376 เสียงจาก 750 เสียง ก็จะทำให้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ไม่ได้ และเกิดสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews