ครม.รับทราบข้อเสนอ ภาวะสังคมไทยไตรมาส 1
คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอ ภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2566 นำเสนอโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทราบ กรณี สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2566 ซึ่งจัดอยู่ในด้านการลดความเหลื่อมล้ำ ดังนี้
– ความเคลื่อนไหวทางสังคมไตรมาสหนึ่งปี 2566
1. สถานการณ์ด้านแรงงานมีการจ้างงานจำนวน 39.6 ล้านคน ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.4 เนื่องจากการขยายตัวภาคเกษตรกรรมและสาขานอกภาคเกษตรกรรม ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าจ้างในภาพรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และค่าจ้างในภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.9 ส่วนอัตราว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.05 ปรับตัวดีขึ้นเข้าสู่ภาวะปกติ
2. หนี้สินครัวเรือนในไตรมาสสี่ปี 2565 มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 แต่ชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 4.0 และมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ร้อยละ 86.9 โดยหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนทรงตัว
3. การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังพบว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 124.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากโรค มือ เท้าปาก ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในขณะที่สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยดีขึ้น
4. การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 ขณะที่การบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 0.2
5. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมีการรับแจ้งคดีอาญารวมทั้งสิ้น 103,936 คดีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการรับแจ้งอุบัติเหตุทางถนนลดลงร้อยละ 7.9 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
6. การรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 203.4 จากไตรมาสที่ผ่านมา
– สถานการณ์ทางสังคมที่สำคัญ
1. มูเตลู : โอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ อาจเทียบได้กับ “การท่องเที่ยวเชิงศรัทธา” คาดการณ์ว่ามูลค่าการท่องเที่ยวสายมูเตลูของไทยเฉพาะการแสวงบุญจะมีรายได้หมุนเวียนมากถึง 10,800 ล้านบาทซึ่งทรัพยากรการท่องเที่ยวแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ มูเตลู ที่เป็นสถานที่ เช่น วัด ศาลเจ้า เทวสถาน และ มูเตลูที่ไม่ใช่สถานที่ เช่น เครื่องรางของขลังและพิธีกรรม
2. วิสาหกิจเพื่อสังคมกับการรองรับสังคมผู้สูงวัย ความต้องการของผู้สูงวัยมีความหลากหลาย องค์กรภาคประชาสังคมต่างๆจึงเข้ามามีบทบาทช่วยปิดช่องว่างการดูแลผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นกลไกที่มีความยั่งยืนมากกว่ารูปแบบอื่น โดยตัวอย่างของ วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise : SE) เช่น การจ้างงาน สุขภาพ
3. การออมที่ไม่ใช่ตัวเงิน : ทางเลือกในการสร้างรายได้ในอนาคต ในปัจจุบันมีการส่งเสริมการออมทางเลือกซึ่งเป็นการออมในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การออมทรัพย์ในรูปแบบของการปลูกไม้ยืนต้น การออมทรัพย์ในรูปแบบของการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งควรมี การส่งเสริมและขยายผลการออมที่ไม่ใช่ตัวเงินมากขึ้น
– บทความ “คุณธรรมในสังคมไทย” คุณธรรมเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์แต่คุณธรรมในสังคมไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงสะท้อนจากคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ( corruption, perception index : CPI) และการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมปี 2565 ของศูนย์คุณธรรมด้วยตัวชี้วัดคุณธรรมพบว่าคนไทยส่วนใหญ่มีคุณธรรมอยู่ในระดับพอใช้และระดับคุณธรรมวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews