ครม. ตีกลับ เราเที่ยวด้วยกันเฟส3 สั่งททท.ทำแผนใหม่ป้องกันทุจริต พร้อมรับทราบปรับปรุงโครงการ ม.33เรารักกัน ขยายเวลายืนยันตัวตนถึง31 พ.ค.64
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้เห็นชอบรายละเอียดโครงการ เราเที่ยวด้วยกันเฟส3 ในการขยายสิทธิ์เพิ่มเติม จะให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปพิจารณาเพิ่มเติมรายละเอียด แนวทางการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยจะวางแนวทางเพิ่มเติมหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ให้ทางคณะกรรมการพิจารณา ก่อนนำมาเสนออีกครั้ง
ครม.รับทราบปรับปรุงโครงการ ม.33 เรารักกัน ขยายเวลายืนยันตนถึง 31 พ.ค.64
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า มติคณะรัฐมนตรีรับทราบการปรับปรุงโครงการ ม.33 เรารักกัน โดยขยายระยะเวลายืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิรับวงเงิน 4,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” (G-wallet) ถึงวันที่ 31 พ.ค.64
โดยกลุ่มผู้ลงทะเบียนรอบแรกที่ผ่านการคัดกรอง กดใช้งานและยืนยันตัวตน ใน 3 ช่วงเวลานี้ คือ ระหว่างวันที่ 15 – 21 มี.ค.64 ได้รับวงเงิน 1,000 บาท/สัปดาห์ ระยะเวลา 4 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน, ระหว่างวันที่ 22 มี.ค. – 11 เม.ย.64 ได้รับวงเงินครั้งแรกในวันที่กดใช้งานฯ เป็นยอดวงเงินสะสม จนถึงวันที่กดใช้งานฯ และรับวงเงินสัปดาห์ละ 1,000 บาท จนครบ 4,000 บาท เช่น ยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิ์วันที่ 29 มี.ค.64 จะได้รับวงเงินครั้งแรกวันที่ 29 มี.ค.64 จำนวน 2,000 บาท, ระหว่างวันที่ 12 เม.ย.– 31 พ.ค.64 จะได้รับวงเงินสะสมในวันที่กดใช้งานฯ ครั้งเดียว จำนวน 4,000 บาท
สำหรับกลุ่มผู้ขอทบทวนสิทธ์และผ่านการคัดกรองเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ สามารถยืนยันตัวตนได้ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. – 31 พ.ค.64 ยืนยัน เพื่อรับสิทธิ์ระหว่างวันที่ 5 – 11 เมษายน2564 จะได้รับวงเงินสะสมในวันที่ 12 เมษายน 2564 จำนวน 4,000 บาท และหากยืนยัน ระหว่างวันที่ 12 เมษายน –31 พฤษภาคม 2564 จะได้รับวงเงินสะสมในวันที่กดใช้งานฯ จำนวน 4,000 บาท
นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายระยะเวลายืนยันตัวตนถึงวันที่ 31 พ.ค.64 หวังให้ผู้ประกันตน ม.33 ได้รับสิทธิวงเงิน 4,000 บาท อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับโครงการเราชนะ ที่ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการยืนยันตัวตน ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะเร่งประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์เร่งเข้าร่วมยืนยันตัวตนผ่านช่องทางที่กำหนด ซึ่งภายหลังการปิดลงทะเบียนเมื่อ 7 มี.ค. เวลา 23.00 น สรุปข้อมูลโครงการ ม.33 เรารักกัน ผู้สมัครสำเร็จมีจำนวนทั้งสิ้น 8,208,286 คน
ที่ประชุม ครม. อนุมัติร่าง MOU ค้าข้าว ระหว่างไทย-อินโดนีเซีย 1 ล้านตันต่อปี พร้อมปรับแก้ดอกเบี้ยผิดนัดชำระจาก 7.5% เหลือ 5% –
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้าข้าว ระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงการค้าแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ซึ่งร่าง MOU ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเหมือนกับฉบับเดิม
โดยทั้งสองฝ่ายจะหาข้อยุติโดยการหารือ และเจรจาอย่างฉันมิตร และเมื่อมีการลงนาม MOU แล้ว จะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 4 ปี นับแต่วันที่ลงนาม ยกเว้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าเป็นเวลา 6 เดือน
โดยทั้งสองฝ่ายตกลงจะขายข้าวขาว ร้อยละ 15 – 25 ในปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี หลังหมดอายุไปแล้วเมื่อพ.ศ. 2559 เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียมีความต้องการที่จะสำรองข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ
รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการส่งออกข้าวไทยอีกหนึ่งช่องทาง
นอกจากนี้ ที่ประชุมอนุมัติ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับกรณีการปรับอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ จากเดิมที่มีอัตราค่าปรับอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี ปรับลดเหลือร้อยละ 5 ต่อปี พร้อมให้คำนวณอัตราดอกเบี้ยจากวงเงินในงวดที่ผิดนัดชำระเท่านั้น
ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อน จากเดิมร้อยละ 7.5 ปรับลดเหลือร้อยละ 3 ต่อปี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
ครม.อนุมัติเพิ่มงบ 2 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 3,838 ล้านบาท พร้อมให้สินเชื่อชะลอการขายข้าว 4,504 ล้านบาท
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า ที่ประชุมอนุมัติเพิ่มวงเงินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี2563/64 รอบที่ 1 จำนวน 3,838 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยเพิ่มจากเดิมที่เคยอนุมัติไปแล้ว เมื่อ 1 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีจำนวน 46,807 ล้านบาท รวมงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 50,646.27 ล้านบาท เนื่องจากมีเกษตรกรลงทะเบียนเพิ่มขึ้นหลังจากที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว จำนวน 1.1 แสนครัวเรือน และกรมส่งเสริมการเกษตรจะต้องลงพื้นที่ตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งจะยืนยันตัวเลขที่แท้จริงได้ ประมาณสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564
พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้อนุมัติเพิ่มวงเงินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/64 จำนวน 4,504 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่เคยอนุมัติไปแล้ว เมื่อ 3 พฤศจิกายน 2563จำนวน 19,826 ล้านบาท รวมงบประมาณโครงการทั้งสิ้น 24,331 ล้านบาท
อีกทั้งยังขยายปริมาณข้าวเปลือกจำนวน 3.2 แสนตันข้าวเปลือก เพิ่มจากเดิมที่กำหนดไว้ 1.5 ล้านตันข้าวเปลือก รวมเป็น 1.82 ล้านตันข้าวเปลือก และขยายระยะเวลาจัดทำสัญญากู้โครงการถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564
ส่วนภาคใต้ จะขยายระยะเวลาถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 โดยยังคงยึดหลักการเดิมคือ เกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางของตนเองจะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวอัตรา1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก ส่วนสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการได้รับอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวจะได้รับอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก
สำหรับผลการดำเนินโครงการที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 25 มกราคม 2564 ทาง ธ.ก.ส. ได้จ่ายสินเชื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 210,488 ราย รวมสินเชื่อจำนวน 10,449 ล้านบาทและมีปริมาณข้าวเปลือก จำนวน 1.04 ล้านตัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news