Home
|
เศรษฐกิจ

พณ.เผยทุเรียนไทยใช้สิทธิFTAส่งออกไปจีนพุ่ง

Featured Image
พาณิชย์เผย4เดือนทุเรียนไทยใช้สิทธิ FTA ส่งออกไปจีนพุ่ง และผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากRCEPเพิ่ม

 

 

 

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2566 จำนวน 12 ฉบับ มีมูลค่ารวมกว่า 25,831.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ สูงถึงร้อยละ 74.75 โดยทุเรียนสดเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่มีการใช้สิทธิ FTA ส่งออกไปจีนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน มีมูลค่าสูงถึง 2,022.84 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มสูงร้อยละ 85.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ตามผลผลิตและความนิยมที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง

 

 

โดยกรมการค้าต่างประเทศได้มีการลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงผู้ประกอบการไทยในภูมิภาคต่างๆ ให้ทราบถึงประโยชน์จากการใช้สิทธิ FTA โดยเฉพาะทุเรียนสดที่ส่งออกไปจีนจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และกรอบความตกลง RCEP ซึ่งถือเป็นการช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างดี

 

 

สำหรับกรอบความตกลง FTA ที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่

 

 

อันดับ 1 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน มูลค่า 9,451.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯร้อยละ 73.35 โดยเป็นการใช้สิทธิส่งออกไปอินโดนีเซียสูงสุด มูลค่า 2,553.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาเลเซีย มูลค่า 2,227.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เวียดนาม มูลค่า 2,157.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ มูลค่า 1,577.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ยานยนต์สำหรับขนส่งของ (น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน) น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ รถยนต์เพื่อขนส่งบุคคล (1,500 – 3,000 cc)น้ำมันปิโตรเลียมและน้ำมันจากแร่บิทูมินัส

 

 

อันดับ 2 ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) มูลค่า 7,850.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 92.40 โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ทุเรียนสด ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ มันสำปะหลัง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำตาล ฝรั่ง มะม่วง และมังคุด และชิ้นเนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง

 

 

อันดับ 3 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 2,117.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 69.67 โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง เนื้อไก่แช่เย็นจนแข็ง กุ้งปรุงแต่ง กระสอบและถุงทำด้วย โพลิเมอร์ของเอทิลีน ลวดและเคเบิลทำด้วยทองแดง

 

 

อันดับ 4 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 1,875.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 67.41 โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ รถยนต์และยานยนต์อื่นๆ (ที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล) รถยนต์ขนส่งบุคคลขนาด2,500ccขึ้นไปและขนาด 1,000 – 1,500 cc ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และปลาทูน่าปรุงแต่ง

 

 

อันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 1,681.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ ร้อยละ 62.72 โดยสินค้าสำคัญที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง และมีการขยายตัวของการใช้สิทธิฯ อาทิ ลวดทองแดง สารประกอบออร์แกโน-อินออร์แกนิก ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ

 

 

สำหรับความตกลง RCEPในเดือนมกราคม-เมษายน 2566 มีการส่งออกไปยัง 10 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ รวม 421.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 106.72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญภายใต้ความตกลง RCEP

 

 

อาทิ น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง มันสำปะหลังเส้น โดยตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2566 เป็นต้นมา ความตกลง RCEP ได้มีผลบังคับใช้กับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายที่ความตกลง RCEP ได้เริ่มมีผลบังคับใช้ด้วย ส่งผลให้ขณะนี้ ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้กับทุกประเทศสมาชิกครบทั้ง 15 ประเทศเรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นข่าวดีที่ผู้ส่งออกไทยได้มีทางเลือกในการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ต่างๆ ที่ไทยมีอยู่ได้มากขึ้น

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube