สอน. เดินหน้า 5 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 66/67 พร้อมจับมือ 4 หน่วยงานเครือข่าย ลงนาม MOU ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ให้ความสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม “MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” อีกทั้งยังได้มุ่งเน้นนโยบายในการลดฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สอน. จึงได้กำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ดังนี้
1. มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ดูแลพื้นที่เพาะปลูกอ้อยโดยไม่มีการเผาอ้อย ส่งเสริมสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย และการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยจำหน่ายใบอ้อยและยอดอ้อยให้กับโรงงานเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น 2. มาตรการช่วยเหลือโรงงานน้ำตาลที่ไม่รับอ้อยเผาเข้าหีบ ส่งเสริมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับโรงงานน้ำตาลในการซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ผลิตในประเทศเพื่อซื้อในราคาที่เหมาะสม กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคการผลิตภายในประเทศ
3. มาตรการทางกฎหมาย กำกับติดตามทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบเผาอ้อย ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโรงงานน้ำตาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะต้องมีแผนการตัดอ้อยสดคุณภาพดีและแนวทางการรับอ้อยเข้าสู่โรงงานของชาวไร่อ้อยคู่สัญญา ส่วนโรงงานน้ำตาลที่ตั้งอยู่เดิมจะต้องมีการจัดทำแผนดังกล่าวภายใน 2 ปี พร้อมการนำกฎหมายอื่นมากำหนดชนิดและแหล่งที่มาของวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลและผลิตภัณฑ์อื่น 4. มาตรการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 และร่วมกับ ธ.ก.ส. ในการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเสริมสภาพคล่องระยะสั้นในช่วงการเก็บเกี่ยวอ้อยให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย 5. มาตรการ Burning Tax (Carbon Tax) หารือร่วมกับกรมสรรพสามิต ในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการลักลอบเผาอ้อยและปัญหาฝุ่น PM 2.5 ด้วยมาตรการ Burning Tax (Carbon Tax) ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวและจิตสำนึกในการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และผลักดันมาตรการคาร์บอนเครดิต และการซื้อ-ขายคาร์บอน ในกระบวนการผลิตอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
นายภานุวัฒน์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สอน. ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมนำนโยบาย BCG มาใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการอุตสาหกรรมนี้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ สอน. จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมส่งเสริมการเกษตร สถาบันอาหาร บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด และบริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาสนับสนุนและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร และองค์กรเกษตรกร โดยครอบคลุมในทุกมิติตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรด้วยการส่งเสริมทางด้านการศึกษา วิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการให้บริการทางการเกษตร การทำข้อตกลงความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานนี้ จะเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเกิดการรวมกลุ่ม และร่วมกันบริหารจัดการไร่อ้อยในพื้นที่เกษตรแบบแปลงใหญ่ ตลอดจนสามารถขยายผลการดำเนินงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารจัดการไร่อ้อยไปสู่พื้นที่การปลูกอ้อยในจังหวัดอื่นไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน การบริหารจัดการแหล่งน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย และการลดต้นทุนการผลิต เพื่อลดปริมาณอ้อยที่ถูกลักลอบเผา
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สถาบันอาหารเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นแกนนำในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมความร่วมมือระหว่างสถาบันอาหาร กับ สอน. มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในความร่วมมือด้านงานวิชาการการดำเนินโครงการเพื่อลดการเผาอ้อยและสร้างอาชีพเสริมชาวไร่อ้อย รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ และนำองค์ความรู้ที่ได้จากความร่วมมือต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเชิงสาธารณะและเชิงพาณิชย์ต่อไป
นางอารยา อรุณานนท์ชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด กล่าวว่า บริษัท น้ำตาลราชบุรี จำกัด มีความมุ่งมั่นและผลักดันให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีการเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยอีกด้วย
นายจรินทร์ ระดมกิจ ผู้เชี่ยวชาญ บริษัท เคทิส วิจัยและพัฒนา จำกัด ในกลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร กล่าวว่า บริษัทฯ ในฐานะองค์กรชั้นนำที่มีการบูรณาการงานด้านเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมแบบครบวงจรใส่ใจดูแลสังคม เสริมสร้างมูลค่าและคุณค่าของผลิตภัณฑ์น้ำตาล ผลิตภัณฑ์พลอยได้ โดยบริษัทมีภารกิจหลักในการวิจัยและพัฒนาโครงการวิจัย จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตและเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตรในวันนี้ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการวิจัย ที่มุ่งเน้นด้านการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์อ้อย การบริหารจัดการอ้อย การป้องกันโรคและแมลงศัตรูอ้อย การผลิตอ้อย รวมถึงนวัตกรรม เทคโนโลยีการเกษตร และจักรกลเกษตร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในการพัฒนาวิชาการด้านอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล งานด้านวิจัย รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูล และประสบการณ์ทางวิชาการกับ สอน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews