นักวิชาการ ชี้ มติศาลรัฐธรรมนูญสร้างหลักการใหม่ทางการเมือง หวั่นส่งผลกระทบการโหวตเลือกนายกฯเพื่อไทย มองอาจไหลไปอีกขั้วหนึ่งได้
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้วินิจฉัย กรณีร้องมติรัฐสภาเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โหวตนายกฯรอบ 2 ไม่ได้ ว่าส่งผลต่อปัญหาทางกฏหมายและการเมือง ในแง่ของกฏหมายคือ มติสภาเดิมยังอยู่ คำวินิจฉัยยังไม่ชัดเจน ศาลชี้เพียงผู้ร้อง ไม่ใช่บุคคล ซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง จึงยังไม่ได้ข้อสรุปว่าการแนวทางในการโหวตนายกฯ ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ หรือ มติของรัฐสภา
ในแง่ของการเมือง นายพิธา ยังมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องตีความมติดังกล่าวได้ ในฐานะผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าว แต่ถึงแม้จะมีผลอย่างไร ในทางปฏิบัติก็คงเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองขึ้นมาใหม่ และเสียงพรรคร่วมเดิม 312 เสียง ก็คงไม่สามารถกลับมาเกาะติดกันเหมือนเดิมได้อีกต่อไป
ส่วนการโหวตเลือก นายกฯหลังจากนี้ ก็ต้องรอดูวิปสามฝ่ายว่าจะเอาอย่างไร เมื่อเกิดบรรทัดฐานทางกฏหมายและการเมืองขึ้นมาแบบนี้ แคนดิเดยนายกฯทุกคน จะต้องฝ่าด่านนี้ไปด้วยกันทุกคน โดยเฉพาะนายเศรษฐา ทวีสินแคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย ที่มีเงื่อนไขหลายอย่าง ต้องเผชิญกับข้อวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมต่างๆ ก็จะเป็นตัวกำหนด แลพกดดันทั้งตัวนายเศรษฐาเอง และพรรคเพื่อไทยด้วย หากโหวตไม่ผ่าน และมติสภาเดิมยังคงอยู่ ซึ่งหมายถึงการโหวตได้เพียงครั้งเดียว
หากในกรณี นายเศรษฐา โหวตไม่ผ่าน มองว่าโอกาสในการเสนอชื่อแคนดิเดตคนต่อไปของพรรคคงไม่มี เพราะเป็นความเสี่ยงของพรรค หากเป็นดังนี้ก็มีโอกาสที่ตำแหน่ง นายกฯจะไหลกลับไปอยู่ขั้วรัฐบาลเดิมก็เป็นไปได้เช่นกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews