สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ คงเป้าส่งออกปีนี้โตได้1% พร้อมเสนอรัฐบาลใหม่ผลักดันขีดความสามารถแข่งขัน
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือ สรท. เปิดเผยถึง ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนกรกฎาคม 2566 กับเดือนกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 22,143.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 6.2 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,121.0 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หดตัว ร้อยละ 11.1 ส่งผลทำให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2566 ขาดดุลเท่ากับ 1,977.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 7 เดือนแรกปี 2566 พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 163,313.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว ร้อยละ 5.5 ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 171,598.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว ร้อยละ 4.7 ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี ขาดดุลเท่ากับ 8,285.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดย สรท. คาดการณ์เป้าหมายการส่งออกรวมทั้งปี 2566 ที่ ร้อยละ 1 โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 2566 ได้แก่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ตลาดสหรัฐ ยุโรป และจีน อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และภาระต้นทุนการกู้เงินของผู้ประกอบการ ต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และการขนส่ง
ทั้งนี้ สรท. มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ลดต้นทุน ยกระดับประสิทธิภาพ และ สร้างโอกาสทางการค้า พร้อมทั้งข้อเสนอแนะการดำเนินงานที่สำคัญแยกตามประเด็นยุทธศาสตร์ 10 ด้าน อาทิ เร่งสนับสนุนงบประมาณเพื่อยกระดับฝีมือ และปรับเปลี่ยนทักษะฝีมือ ของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม
รวมถึงการทำ Internship Industry ร่วมกับบริษัทหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการ เร่งส่งเสริมและสนับสนุนทั้งด้านการเงินและการพัฒนาหน่วยงานหรือสถาบันฝึกอบรมของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานสากล อาทิ ISO 29990 เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพการฝึกอบรมในประเทศให้เป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนจากต่างประเทศ เร่งส่งเสริมการเพิ่มทักษะทางด้านภาษาต่างประเทศของแรงงานเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารทางการค้าระหว่างประเทศ และการทำงานร่วมกับนักลงทุนจากต่างประเทศ
ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation) เร่งส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เชิงบูรณาการระหว่างรัฐและเอกชนผ่านแพลตฟอร์มการอำนวยความสะดวกทางการค้า และบริหาร Big Data เพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวางแผน และ เร่งยกระดับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในภาคการผลิตและภาคการส่งออก เพื่อให้มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับยกระดับประสิทธิภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ รวมถึงเร่งปรับการส่งเสริมการลงทุนโดยให้สิทธิประโยชน์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละราย
ด้านการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในตลาดโลก เร่งรัดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดเป้าหมาย อาทิ ส่งเสริมการส่งออกข้าวไทยในตลาดตะวันออกกลาง ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในตลาดจีน ส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารในตลาดตะวันออกกลาง สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ในตลาดอินเดียและตะวันออกกลาง ส่งเสริมการส่งออกยางพาราและยางล้อรถยนต์ ในตลาดจีนและกลุ่มประเทศ RCEP สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา การพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยต้องอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับทักษะฝีมือและผลิตภาพในการผลิตของแรงงาน เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของการส่งออก และเร่งจัดหาแหล่งเงินทุน และอำนวยความสะดวกขั้นตอนการขอใบอนุญาต เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews