จีนจัดการประชุมอารยธรรมแม่น้ำสายใหญ่ของโลก ประจำปี 66 มุ่งพัฒนาและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม
จีนได้จัดการประชุมอารยธรรมแม่น้ำสายใหญ่ของโลก ประจำปี 2566 (2023 World Great Rivers Civilizations Forum) ที่เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน และหนึ่งในแปดเมืองหลวงของจีนโบราณที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเหลือง โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญกว่า 300 คนจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมในหัวข้อ “การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอารยธรรมเพื่อสร้างอนาคตร่วมกัน”
การประชุมดังกล่าวได้นำเสนอความสำเร็จในการฟื้นฟูระบบนิเวศและการพัฒนาวัฒนธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์และข้อริเริ่มแม่น้ำเหลืองของจีน โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอารยธรรมจีนอย่างยั่งยืนและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระดับโลก ทั้งนี้ แม่น้ำเหลืองไหลผ่านแปดเมืองในมณฑลเหอหนาน และเจิ้งโจวซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำเหลือง ก็เป็นแหล่งกำเนิดของอารยธรรมเกษตรกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของจีน
การประชุมหลักสี่หัวข้อ ได้แก่ ความหลากหลายและการเรียนรู้ร่วมกันของอารยธรรมแม่น้ำสายใหญ่ของโลก, การสืบทอดและส่งเสริมอารยธรรมจีนและวัฒนธรรมแม่น้ำเหลือง, การประชุมซงซาน การเสวนาระหว่างอารยธรรมจีนกับอารยธรรมอื่นทั่วโลก ประจำปี 2566 และการประชุมสัมมนาว่าด้วยการอนุรักษ์ระบบนิเวศและการพัฒนาลุ่มแม่น้ำเหลืองอย่างมีคุณภาพสูง ได้นำเสนอความสำเร็จทางโบราณคดีและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแม่น้ำเหลืองอันลึกซึ้ง ขยายอิทธิพลของวัฒนธรรมจีน และส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกันของอารยธรรมโลก
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมยังมีการออก “แถลงการณ์เจิ้งโจว” (Zhengzhou Manifesto) เพื่อเรียกร้องให้เคารพลักษณะทางอารยธรรมของแม่น้ำแต่ละสายทั่วโลก ใช้มาตรการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของลุ่มแม่น้ำ และส่งเสริมการพัฒนาอารยธรรมสมัยใหม่โดยอาศัยคุณค่าสมัยใหม่ของอารยธรรมโบราณ โดยสาระสำคัญมีดังนี้
- แม่น้ำสายใหญ่หล่อเลี้ยงอารยธรรมที่สำคัญทั่วโลกและหล่อหลอมอารยธรรมมนุษย์
- ลุ่มแม่น้ำสายใหญ่เป็นแหล่งรวมมรดกตกทอดของอารยธรรมมนุษย์
- สนับสนุนให้เคารพลักษณะทางอารยธรรมของแม่น้ำแต่ละสาย เพื่อปกป้องความหลากหลายของอารยธรรมมนุษย์
- สนับสนุนให้ใช้มาตรการที่เข้มแข็งเพื่อปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมของลุ่มแม่น้ำ
- สนับสนุนให้ดำเนินการวิจัยอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับอารยธรรมโลก รวมถึงอารยธรรมแม่น้ำ
- สนับสนุนให้สืบทอดและส่งเสริมอารยธรรม
- สนับสนุนให้ปกป้องสภาพแวดล้อมทางนิเวศวิทยาของลุ่มแม่น้ำ และการอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนระหว่างอารยธรรมกับระบบนิเวศ
- สนับสนุนให้ใช้คุณค่าสมัยใหม่ของอารยธรรมโบราณเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอารยธรรมสมัยใหม่ในสังคมมนุษย์
- สนับสนุนให้ยกระดับการสื่อสารทางอารยธรรมเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม การบูรณาการวัฒนธรรม และความเข้าใจร่วมกัน