Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ลับลวงพราง รัฐบาลแจกเงินหมื่น

ยังคงเป็นประเด็นร้อนแรงที่สังคมและนักลงทุนให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับนโยบาย Digital Wallet แจกเงินหมื่นของรัฐบาล “เศรษฐา” ที่ในวันนี้ ยังไม่มีความชัดเจนถึงแหล่งที่มาของเงินเพื่อใช้ในโครงการ ซึ่งมีมูลค่ามากถึง 5.6 แสนล้านบาทว่า จะเอาเงินมาจากที่ใด

 

 

 

 

 

ในมุมมองอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” บอกกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า เวลานี้ รัฐบาลยังไม่มีจุดลงตัวสำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการ Digital Wallet แจกเงินหมื่น ซึ่งหากรัฐบาลจะนำงบประมาณค้างท่อมาใช้ ก็ถือเป็นการเลี่ยงบาลีเรื่องเงินกู้ เพราะสุดท้ายรัฐบาล ก็ต้องกู้อยู่ดี

 

 

“ในแง่ของรัฐบาลเวลานี้ ปัญหาแหล่งเงินดูแล้วเหมือนจะยังไม่มีจุดที่ลงตัว เพราะว่ารัฐบาลเขากำลังจะไปใช้งบประมาณปีที่อนุมัติไปแล้วในอดีต ที่เป็นงบค้างท่อเพื่อจะมาทำในโครงการนี้ ส่วนงบประมาณที่เป็นงบค้างท่อ มันเป็นงบประมาณที่ไม่ใช่ฟรี เป็นงบประมาณที่รัฐสภา เขาอนุมัติให้สำหรับโครงการอื่น เพียงแต่ยังไม่ได้เบิกจ่าย เวลานี้ถ้าหากว่าเอาอันนี้ไป ก็กลายเป็นว่า รัฐบาลเลี่ยงที่จะหาแหล่งเงิน โดยที่ไม่ผ่านการตรวจสอบของรัฐสภาในการอนุมัติ ซึ่งผมคิดว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ไม่ดี อันนี้เป็นประเด็นของแหล่งเงิน ประเด็นที่ 2 ในเรื่องของความจำเป็น ผมก็คิดว่า เป็นการแจกเงินที่มากเกินไป แจกไปแล้ว มันเป็นการเอาเงิน หนี้สาธารณะ เข้ามาละลายเกินกว่าที่จำเป็น”

 

 

 

นอกจากนี้ “นายธีระชัย” ยังตั้งข้อสังเกตคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ว่า “ไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ-รักษาวินัยการคลัง” จริงหรือไม่? โดย “นายธีระชัย”ได้อธิบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า สำหรับเงินงบประมาณค้างท่อรอเบิกจ่าย 300,000 ล้านบาทนั้น ชื่อก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ใช่การยกเลิกใช้เงิน แต่เป็นเงินที่ยังผูกพันจะต้องใช้เพื่อการอื่น เพียงแต่ดันห้วงเวลาของการเบิกจ่ายไปยังปีงบประมาณหน้า เนื่องจากงบประมาณปี 2567 จะเป็นงบขาดดุลมากถึง 693,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะต้องกู้หนี้สาธารณะเพื่อมาโปะขาดดุลอยู่แล้ว

 

 

 

ดังนั้น คำพูดนี้จึงเป็นการเลี่ยงบาลี เพราะที่อ้างว่าเงินจำนวน 300,000 ล้านบาท “ไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ” นั้น เป็นเพียงการผลักให้งบประมาณค้างท่อรอเบิกจ่าย เป็นตัวที่จะขาดดุลงบประมาณและรัฐบาลจะต้องกู้แทน

 

 

 

“นายธีระชัย” อธิบายแบบชาวบ้านให้เข้าใจว่า พี่วางตัวให้ดูเหมือนเป็นคนดี เนรมิตเงินมาให้ครอบครัวใช้ โดยพี่ไม่ต้องกู้ แต่ในข้อเท็จจริง พี่แย่งเงินของน้องมาใช้ เปลี่ยนเป็นให้น้องต้องกู้แทน

 

 

 

สรุปแล้ว ข้ออ้างว่า “ไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ” จึงเป็นเพียงการเล่นกลตัวเลข ให้ประชาชนเข้าใจผิด ทำให้ประชาชนคิดว่ารัฐบาลนี้เป็นพระเอก สามารถเนรมิตเงินให้ประชาชนได้ โดยไม่เพิ่มภาระหนี้ที่ประชาชนจะต้องรับผิดชอบในอนาคต

 

 

 

แต่แท้จริง ก็เป็นการเอาหนี้ของประชาชนในอนาคต มาแจกในปัจจุบันเท่านั้น ยิ่งกู้หนี้สาธารณะมากขึ้น เพื่อเอาเงินมาแจกประชาชนมากขึ้น จะทำให้ประชาชนดีใจในวันนี้ แต่จะถูกเช็คบิลในวันหน้า

 

 

 

ดังนั้นวิธีเดียวที่รัฐบาลของนายเศรษฐาจะทำโครงการนี้โดย “ไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ-รักษาวินัยการคลัง” อย่างแท้จริง ก็คือจะต้องลดงบประมาณรายจ่ายรายการอื่นในปี 2567 ลงไปให้จงได้ 560,000 ล้านบาท

 

 

 

ดังนั้น “นายธีระชัย จงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี แจกแจงตัวเลขว่า จะลดงบประมาณรายจ่ายรายการอื่นในปี 2567 ลงไปให้ได้ 560,000 ล้านบาท หรือไม่ รายการใด ถ้าไม่มีการลดงบประมาณรายจ่าย ตัดการซื้ออาวุธ ยกเลิกหน่วยงานกองทัพที่ซ้ำซ้อน ฯลฯ ก็ขออย่าโม้ว่า โครงการเงินดิจิทัลจะ “ไม่กู้-ไม่กระทบหนี้สาธารณะ-รักษาวินัยการคลัง” เพราะจะเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงประชาชนเสียเปล่าๆ

 

 

 

จากนี้ต่อไป จะต้องจับตาแหล่งที่มาของเงินที่ “รัฐบาล เศรษฐา” จะนำมาใช้ในนโยบายนี้ว่า จะเอามาจากที่ใด เพราะทุกความชัดเจน ย่อมส่งผลต่อทางเศรษฐกิจไทยนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube