“หัวเว่ย” จัดการประชุมที่ดูไบ เปิดโอกาสอุตสาหกรรมหลากหลาย มุ่งเพิ่มมูลค่าธุรกิจ 5G
การประชุมโกลบอล โมบายล์ บรอดแบนด์ (Global Mobile Broadband Forum หรือ MBBF) ของหัวเว่ย เริ่มขึ้นแล้วที่นครดูไบ ระหว่างวันที่ 10 – 11 ตุลาคม ณ นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการถ่ายทอดสดการสนทนาเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของการพัฒนา 5G และการคาดการณ์ในอนาคต ระหว่าง เคน หู ประธานหมุนเวียนของหัวเว่ย กับ แมตส์ แกรนริด ผู้อำนวยการสมาคมจีเอสเอ็ม
นายเคน หู กล่าวว่า “เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และความต้องการใหม่ ๆ ก็มีการพัฒนาขึ้นทุกวัน ดังนั้นเครือข่ายของเราจึงต้องพัฒนาต่อไปเช่นกัน เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับอนาคตและเพิ่มมูลค่าการลงทุนใน 5G ให้สูงสุด และนั่นคือเหตุผลที่เราทำงานอย่างหนักกับ 5G-Advanced”
ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องว่า 5G มีความก้าวหน้าที่โดดเด่นด้านการใช้งานเครือข่าย การนำไปใช้ในการบริการผู้บริโภค และการใช้งานด้านอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีการติดตั้งเครือข่าย 5G มากกว่า 260 เครือข่ายทั่วโลก ครอบคลุมเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรโลก 5G เป็นเทคโนโลยีสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ที่เติบโตเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยมีการเชื่อมต่อถึงหนึ่งพันล้านการเชื่อมต่อเพียง 3 ปีหลังจากเปิดตัว
นายหู เปิดเผยว่า ปัจจุบัน 5G ถือเป็นสัดส่วนหลักของการรับส่งข้อมูลเครือข่ายสำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือชั้นนำทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันรูปแบบวิดีโอกำลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ส่งผลให้ปริมาณการใช้ข้อมูลเครือข่ายเพิ่มขึ้น 3 – 5 เท่า และรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้ (ARPU) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-25%
5G ยังช่วยให้เครือข่ายอุปกรณ์การสื่อสารเคลื่อนที่ขยายไปสู่ตลาดอุตสาหกรรมแนวตั้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดเมื่อเทียบกับ 4G ปัจจุบันมีแอปพลิเคชัน 5G ระดับอุตสาหกรรมมากกว่า 50,000 แอปพลิเคชันทั่วโลก และมีการเชื่อมต่อ 5G มากกว่า 10 ล้านรายการในสภาพแวดล้อมทางอุตสาหกรรม
ด้าน นายแกรนริด กล่าวว่า 5G กำลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ และเปิดโอกาสมหาศาล โดยในปี 2573 5G จะเพิ่มมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับเศรษฐกิจโลก พร้อมผลประโยชน์ที่แผ่ขยายไปทั่วทุกอุตสาหกรรม
นายหู เสริมว่า สำหรับตลาด B2B อุตสาหกรรมควรใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชัน 5G ที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว เพื่อขับเคลื่อนการนำ 5G ไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ตลอดกระบวนการนี้ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถวางตำแหน่งตัวเองได้ดีขึ้น เพื่อคว้าโอกาสใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเสริมสร้างขีดความสามารถในระบบคลาวด์ให้มากขึ้น เพื่อช่วยปรับปรุงระบบนิเวศแอปพลิเคชัน 5G ให้ดียิ่งขึ้น สมาคมจีเอสเอ็มได้เสนอโครงการริเริ่มโอเพน เกตเวย์ (Open Gateway) เพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนนวัตกรรมข้ามอุตสาหกรรม โอเพน เกตเวย์ เป็นเฟรมเวิร์ก API ทั่วไปที่จะเปิดโอกาสให้เข้าถึงความสามารถทางเครือข่ายของผู้ให้บริการได้ ซึ่งช่วยให้นักพัฒนาและผู้ให้บริการระบบคลาวด์ปรับปรุงและสร้างบริการดิจิทัลใหม่ ๆ ได้
การประชุมนี้ จัดขึ้นโดยหัวเว่ย ร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมอย่างสมาคมจีเอสเอ็ม, จีทีไอ และสภาโทรคมนาคมซามีนา เป็นการรวบรวมผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ ผู้นำอุตสาหกรรมแนวดิ่ง และพันธมิตรระบบนิเวศจากทั่วโลก เพื่อเจาะลึกเรื่องราวความสำเร็จของการใช้ 5G ในเชิงพาณิชย์ และเร่งพัฒนาการใช้งาน 5.5G ในเชิงพาณิชย์ด้วย