Home
|
ข่าว

คนรวยหมดสิทธิ์-แจกหมื่นไม่ตรงปก?

 

 

 

ทีนี้ก็ว้าวุ่นกันเลยทีเดียวกับ นโยบายแจกเงินหมื่นดิจิทัลวอเล็ต ที่ไปๆมาๆ ทำท่าจะ “ไม่ตรงปก”หากเป็นไปอย่างที่คณะอนุกรรมการชุดที่ “จุลพันธ์” รมช.คลัง นั่งหัวโต๊ะ สรุปเมื่อวาน(25ต.ค.)

 

 

 

 

 

 

 

ถึงการเคาะทางเลือก “กลุ่มเป้าหมาย”ที่จะเข้าร่วมโครงการ ออกมาเป็น ข้อเสนอ 3 แนวทาง แต่ยังไม่เคาะเรื่อง “แหล่งที่มาของงบประมาณ” เช่นเดิมคือ 1.ตัดกลุ่มที่มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และหรือมีเงินฝากบัญชีเกิน 1 แสนบาท จะเลือกคนที่เข้าร่วมโครงการ43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 430,000ล้านบาท 2.ตัดกลุ่มรายได้เกิน 5 หมื่นบาท/เดือน และหรือมีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทเหลือคนที่เข้าร่วมโครงการ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 490,000ล้านบาท และ 3.ให้เฉพาะกลุ่มผู้ยากไร้ 15-16ล้านคน ใช้งบประมาณ 160,000ล้านบาท

 

 

 

 

แน่นอนว่าพอข่าวนี้ออกมาก็ทำให้ ชาวบ้านชาวเมือง ไม่เว้นทั้งแฟนคลับFCเพื่อไทย ที่หมายมั่นปั้นมือรอ เงินหมื่นที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ว่าแจกแบบถ้วนหน้าตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป ที่ต้องใช้งบราว 5.6แสนล้านบาทออกมาบ่นกันทั้งบางผ่านโซเชียลกันขรม บ้างก็เสียดเย้ย ว่า ตื่นมาปุ๊บกลายเป็นคนรวยปั๊บ ในรัฐบาลเศรษฐา บ้างก็ว่า คนรวยไม่มีสิทธิ์นะครับ ขณะที่FC เพื่อไทย พยายามบอกรัฐบาลไม่ต้องไปฟังใครให้เดินหน้าแจกหมื่นตามที่ตั้งธง

 

 

 

 

ที่กระแส “ทัวร์คนรวยลง”ดังกล่าวทำให้ “นายกฯเศรษฐา”ที่วันนี้ไปสภาตอบกระทู้ที่ฝ่ายรัฐบาลถาม รีบออกมาแจกแจงผ่านสื่อ ว่า แม้จะเห็นข้อเสนอ 3ข้อแล้ว แต่ไม่ได้บอกว่ามีแนวโน้มเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ต้องรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ยังไม่อยากพูดให้สับสน เพราะต้องตอบในองค์รวมทั้งหมด จะได้ทราบถึงความต้องการจริงๆ

 

 

 

รวมไปถึงผลกระทบด้านงบประมาณและตัวเลขการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านต่างๆ ซึ่งยืนยันว่าต้องรับฟังเสียงประชาชนส่วนจะตอบคำถามสังคมอย่างไรหากมีการลดเป้าหมายกลุ่มผู้ใช้เงินลงมานั้นขณะนี้ยังไม่มีการตอบหรือว่าจะลดอย่างไรบ้างแต่สื่อมาถามแล้ว ก่อนย้ำว่าตนไม่ได้บอกว่าจะลดกลุ่มเป้าหมาย และไม่ได้บอกว่าจะไม่ให้ หรือจะเป็นอย่างไร ยังไม่อยากให้สับสน หากจะตอบต้องตอบให้หมด

 

 

 

 

เรียกว่ารัฐบาลออกอาการต้องรีบแจง เพราะกำลังทำให้ประชาชนเสียความรู้สึก แม้บางส่วนจะมองว่า รัฐบาลเหมือนกำลังหาทางออก อย่างไรจาก “นโยบายเรือธง”นี้ที่ไปรับปากไว้ในการหาเสียง แต่พอถึงเวลาปฏิบัติกลับทำไม่ได้แถมเสี่ยง “เข้าตัว”ตามที่มีหลายฝ่ายทั้ง นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ ทั้ง อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติ อดีตขุนคลัง พาเหรดออกมาทักท้วง และมีบางฝ่าย

 

 

 

รวมถึง “นักร้อง”ไปยื่นองค์กรอิสระ ตั้งเขียงเตรียมปังตอ ไว้รอฟันแล้ว จะถอยอย่างไรให้ไม่เสียเหลี่ยม แบบมีความเป็นไปได้ที่สุด ในข้อจำกัดทางงบประมาณที่ต้องมีกระบวนการขั้นตอน อย่างที่มีการส่งสัญญานจาก “จุลพันธ์”ก่อนหน้านี้ว่า จะแจกได้ก็ต้องเดือนเม.ย.หรือ พ.ค.67 ไปแล้ว ที่พรบ.งบฯผ่านโดยอาจตั้งงบผูกกันเบิกจ่ายปีละ 1 แสนล้าน

 

 

 

 

ที่อาการดังว่า ถูก “อ.สมชัย” ที่ปรึกษา ประธาน กมธ. ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎรหมาดๆ โพสFB ตั้งข้อสังเกต ทำไม “รัฐบาลเพื่อไทย” ต้องเปลี่ยนท่าที กรณีแจกเงินดิจิทัล10,000บาท ว่า

 

 

 

1. จะใช้งบประมาณแผ่นดินปี 2567 กว่า พ.ร.บ.งบประมาณปีนี้จะผ่าน ก็ 17 เมษายน 2567 ใช้ก่อนไม่ได้ ผิดกฎหมาย

 

 

2. จะใช้มาตรการกึ่งการคลัง ยืมเงินออมสิน ออมสินบอกช่วยได้บางส่วน แต่พอถามกฤษฎีกา กฤษฎีกาตอบว่า ขัดกับพ.ร.บ.ธนาคารออมสิน ไม่สามารถทำได้

 

 

 

3. จะกู้เงิน ก็เกรงโดนด่าทั้งประเทศว่า กู้มาแจก สร้างหนี้ให้ลูกหลานจะออก พรก. เงินกู้ ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา ก็ไม่มีเหตุผลฉุกเฉินจำเป็น และ อาจขัด พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ

 

 

 

 

4. ทางออกที่เหมาะสมแล้ว คือ ใช้งบประมาณแผ่นดินจากการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ลดขอบเขตการแจก และการขยับวันแจกเป็นปลายเมษายน หรือ ต้นพฤษภาคม หลัง พ.ร.บ. งบประมาณผ่านสภา ก่อนสรุปว่า บทเรียนสำหรับพรรคการเมืองในเรื่องนี้ คือ การเสนอนโยบายต้องมองความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่พูดตัวเลขประชานิยมใหญ่โตแล้วเป็นภาระงบประมาณแผ่นดิน ถึงเวลาก็มีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถทำได้จริง ทำให้ต้องเสียหน้า เสียความน่าเชื่อถือ และหากจะดึงดันต่อ ก็อาจสูญเสียมากกว่านั้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube