Home
|
ข่าว

กอ.รมน.”ลุง”-“นายกฯนิด” ไม่ยุ่ง?

กลายเป็น “แรงกระเพื่อม” ขึ้นมาได้เหมือนกัน ในจังหวะที่ “นายกนิด” “เศรษฐา” ยังนัวกับ “หน้างาน” ที่ยังคาให้หลายฝ่ายขยี้กับ “นโยบายเรือธง” “ดิจิทัลวอลเล็ต” ว่าจะเอายังไงกันดีทั้ง “แหล่งเงิน” จะมาจากไหน และ กำหนดเวลาแจก ที่คนในรัฐบาลออกมาคนละทิศคนละทาง กับ ปมเก่าเล่าใหม่ ใน ข้อเสนอแก้กฎหมาย “ยุบกอ.รมน.” หรือ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร”

 

 

 

จาก “ฝ่ายค้าน-ก้าวไกล” ที่ทำท่าบานปลายขยายมาจากเหตุส่วนหนึ่งที่ “นายกฯเศรษฐา”ปฏิเสธทันทีจะไม่มีการยุบ กอ.รมน.ทำให้ถูกหลายฝ่ายวิจารณ์ถึงท่าทีแข็งขันของนายกฯแม้ไม่เกินความคาดหมายแต่เป็นการสะท้อนภาพว่าฝ่ายการเมืองยากจะขจัดการแทรกแซงจาก “รัฐราชการ”ผ่านหน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะ “กองทัพ”ที่ยังถูกมองมีบทบาท ในรัฐบาลปัจจุบัน ที่อย่าลืมว่า“พรรค2ลุง”ก็เป็น “ส่วนประกอบ”ในรัฐบาล

 

 

อย่างที่ “กัณวีร์ สืบแสง”จากพรรคฝ่ายค้าน-เป็นธรรม โพสFB ว่า การนำการเมืองกลับเข้ามาใต้ปีก “รัฐราชการ”อีกครั้งหลังการเลือกตั้งใหญ่ปี66 ที่มติมหาชนส่วนใหญ่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ทหารใช้กำลังยึดครองอำนาจทางการเมืองมากว่า 9 ปี

 

 

แต่สุดท้ายผู้ที่นำรัฐบาลชุดนี้ ที่ชื่อ “เศรษฐา” กลับมอบอำนาจคืนให้กับสถาบันที่ทำกระชากอำนาจจากประชาชนไปเมื่อ 9 ปีก่อนไปอย่างง่ายดาย โดยการแอ่นอกรับอย่างมีนัยยะจากการแถลงถึงการไม่เห็นด้วยกับการยุบ กอ.รมน.ที่น่าเศร้า คือ การมอบอำนาจคืนให้ทหารครั้งนี้ ทำในนามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาขน ไม่ว่าจะใช้กลไกใดๆในการขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายบริหารก็ตาม แต่ก็มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน

 

 

ขณะที่ “นายกฯเศรษฐา”วันนี้ก็ทวิตเตอร์ตอบ “สื่ออาวุโส” ทั้ง “สุทธิชัย หยุ่น” และ “อดิศักดิ์”ที่ แท็กถึง โดย “อดิศักดิ์”สื่ออาวุโส ระบุว่า “ขอไม่เห็นด้วยกับ ที่ประกาศเอาใจทหาร ไม่มีแนวคิดยุบหน่วยงาน มิหนำซ้ำ ยังไปเพิ่มบทบาทที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานราชการอื่นๆ ซึ่ง “เศรษฐา”ทวิต ตอบว่า “ไม่ได้เอาใจทหาร เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งตนพูดไปแล้ว

 

 

ว่าการทำงานของ หน่วยงานนี้ จะต้องเน้น เรื่องการพัฒนา ไม่ใช่แค่ป้องกันอย่างเดียว ”และยัง ได้รีทวิตข้อความ ของ “สุทธิชัย” ที่ระบุว่า “สงครามเย็นหมดยุค คอมมิวนิสต์กลายเป็นมิตรสนิทของรัฐบาล SEATO ถูกยุบมะกันจูบปากเวียดนาม แต่ “นายกเศรษฐา”บอกต้องมี กอ.รมน. เอาไว้ ไม่สนใจฟังเหตุผลของคนที่เสนอ (แม้คนในพรรคเพื่อไทยเอง) ให้ยุบ, ปรับ, แก้ไขกลไกที่เกิดจากยุคทหารครองเมือง”

 

 

ที่“เศรษฐา”ทวิต ตอบ “สุทธิชัย” ว่า “ไม่เคยไม่รับฟังไม่เคยไม่สนใจ แต่เป็นการเห็นต่างแล้ว จะพยายามพัฒนาทุกๆองค์กรให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเน้นย้ำ ให้หน่วยงานนี้ เน้นไปเรื่องการพัฒนา และดูแลพี่น้องประชาชน ทุกๆองค์กรก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแต่การที่โลกเปลี่ยนแปลงไปไม่ได้หมายความว่า ต้องยกเลิก องค์กรนั้นนั้น”

 

 

ขณะที่“นายรอมฎอน”จาก ก้าวไกล ที่มีการแถลงวันนี้(1พ.ย.) ว่าเป็น “ตัวแทน”ยื่นร่างกฎหมายยุบกอ.รมน. ที่ผ่านมา กอ.รมน.ถูกสงสัยการใช้งบประมาณมาตลอด ไม่นับรวมถึงกรณี3จว.ชายแดนใต้ที่ 20 ปี ถูกมองมีการขยายความขัดแย้ง
ที่นำโดยกองทัพ และว่า กอ.รมน.ถือเป็น “สมบัติตกทอดจากสงครามเย็น”มองประชาชนเป็น “ภัยคุกคาม”

 

 

ส่วนท่าที “นายกฯ”ที่ไม่เห็นด้วยนั้น ปัจจุบันร่างกม.นี้ถูกตีความ ว่าเป็นกม.เกี่ยวกับการเงิน ต้องให้ “นายกฯ”ให้คำรับรอง จึงเห็นว่านายกฯ ควรเปิดโอกาสให้มีการใช้กลไกรัฐสภาได้มีการถกเถียงเรื่องนี้

 

 

เรียกว่า “รัฐบาลเพื่อไทย” แม้พลิกขั้ว ไปใช้บริการ “พรรค2ลุง” แต่ลึกๆก็ยังถูกคาดหวังในจุดยืนเดิมของ “ผู้คน” ในพรรคที่เคยมาในทิศทางเดียวกันกับ “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” ในห้วง 9 ปีที่ “รัฐบาลลุงตู่” กุมสภาพ ที่ทั้งผู้คนในเพื่อไทย ก้าวไกลถูกมองว่าล้วนเคยได้รับผลกระทบจากบทบาท “หน่วยงานความมั่นคง” อย่าง กอ.รมน.ที่เติบโตเข้มแข็งมีบทบาทการเมืองขนานคู่มากับบทบาทกองทัพ ตั้งแต่หลังการรัฐประหาร รอบแรกโดย “บิ๊กบัง-พล.อ.สันธิ” เมื่อปี 49 จนมาถึงการ “รัฐประหาร57”

 

 

โดย“นายกฯลุงตู่”ผู้เป็นเจ้าของงานวิจัยวปอ.ปี50 กองทัพไทยกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (NON-TRADITIONAL THREATS) ที่มีเนื้อหา การปรับโครงสร้าง“กอ.รมน.”เพื่อรับมือกับภัยคุกคามใหม่ ซึ่ง ถือว่า ในห้วง 9 ปีที่ผ่านมา “รัฐบาทหาร”ของ “ลุงตู่”ถูกมองว่า มีการใช้ “โหมดความมั่นคง”ผ่าน กอ.รมน.มาจัดการกับ “ภัยคุกคาม” ที่รวมถึงการดำเนินการ กับ สารพัดม็อบต้านรวมถึง “ม็อบเด็กราษฎร” และ“พรรคฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง”จำนวนไม่น้อยเช่นกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube