เศรษฐากู้ – ลุงตู่เปิดช่อง รบ.หน้าแจกเงินแสน?
ชัดเจนแล้วกับนโยบาย Digital Wallet แจกเงินหมื่นให้กับประชาชน ซึ่งจะเริ่มใช้พ.ค.ปีหน้า 2567 ภายใต้กรอบกติกาหลักเกณฑ์คือ มีอายุ 16 ปีขึ้นไป มีเงินเดือนต่ำกว่า 70,000 บาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 500,000 บาท รับเงินง่ายๆ ผ่านแอปฯเป๋าตัง
สำหรับงบประมาณที่ใช้ในโครงการดังกล่าว นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” บอกว่า จะเป็นก็ออก พรบ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท พร้อมยืนยันถึงโปร่งใส และมั่นใจว่าจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภาแต่อย่างไรก็ตาม ด้วยงบประมาณที่มากถึง 5 แสนล้านบาท กับแหล่งที่มาของเงิน คือ “การกู้” ก็ทำให้ใครหลายๆคน อดห่วงไม่ได้ว่า หนี้สาธารณะจะทะลุเพดานหรือไม่ จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด
สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.คุยกับ รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ โดย “รศ.ดร.ธนวรรธน์” ให้ความเห็นว่า เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เป็นเงินใหม่ที่เติมเข้ามาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถูกใช้ทันทีพร้อมกันทั้งประเทศในเดือนพ.ค.2567 ทำให้จีดีพีปีหน้าโตได้ 4.5-5% แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องติดตามนโยบายเสริมเพื่อดึงดูดการลงทุน รวมถึงการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งหากยอดเดินทางเข้ามาใกล้เคียง 40 ล้านคนในปีหน้า ก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่า 5%
“สิ่งแรกที่เราต้องมาดูว่าเรื่องเงินมาจากไหน รัฐบาลก็มีทางเลือกอยู่แล้ว คือใช้เงินงบประมาณหรือว่าใช้เงินกู้ ซึ่งพอรัฐบาลเลือกใช้เงินกู้ก็ต้องกลับมาที่ว่ารัฐบาลสามารถกู้ได้ไหมในพรบ.วินัยทางการคลังก็จะมีข้อเขียนไว้ว่ารัฐบาลไม่ควรกู้เงินแล้วทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงเกิน 60% แต่เนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการกู้ยืมเงินและก่อหนี้สาธารณะอย่างน้อย 20% ของจีดีพีเพื่อแก้ไขปัญหาโควิดซึ่งเป็นภาระที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้รัฐบาลชุดที่แล้วได้มีการเปิดช่องไว้ว่าหนี้สาธารณะในระยะสั้นจะขยายเป็นเต็มเพดานไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี ดังนั้นการที่รัฐบาลกู้พรบ. ออกพรบ.เงินกู้ 5 แสนล้านก็น่าจะทำให้หนี้สาธารณะไม่ควรเกิน 65% ต่อจีดีพีซึ่งน่าจะมาจากเหตุผลสำคัญคือหนึ่ง ตัววงเงินที่กู้ 5 แสนล้านบาท ก็น่าจะทำให้หนี้สาธารณะไม่เกิน 65% ต่อจีดีพีอยู่แล้ว 2.การที่รัฐบาลออก Digital Walletโดยผ่านเงินกู้ 5 แสนล้านเข้าไป เศรษฐกิจไทยก็น่าจะโตได้ในกรอบ 4.5 ถึง 5% ซึ่งทำให้ฐานจีดีพีใหญ่ขึ้น ดังนั้นตัวหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็น่าจะไม่สูงเกิน 65% ต่อจีดีพียังถือว่าไม่เสี่ยง”
ขณะที่ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.โดยยอมรับว่าเป็นห่วงกับนโยบายกู้เงินมาแจก เพราะจะเป็นประเพณีค่านิยมให้กับพรรคการเมืองนำมาใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า
“แล้วผมคิดว่าข้อวิจารณ์ที่ว่า มันจะเป็นการเริ่มประเพณีใหม่ที่ว่า ต่อไปถ้าหากว่ารัฐบาลเข้ามาใกล้เลือกตั้งแล้วเนี่ย ต้องการที่จะได้รับค่านิยม เค้าก็จะออกกฏหมายออกนโยบายแล้วมีการแจกเงินลักษณะอย่างนี้ถ้าหากมีการทำแล้วเอาไปเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการแข่งขันในการเลือกตั้ง มันก็จะมีความเสี่ยงที่จะไปใหญ่เรียกว่ารัฐบาลนี้ทำได้ การแข่งขันในรัฐบาลหน้า มันก็สามารถจะมีคนแข่งขึ้นมา บอกว่าแทนที่จะแจก 1 หมื่น เค้าก็แจก 1 แสนบาท แล้วก็พอเลยไปก็จะมีพรรคอื่นที่เค้าบอก ถ้าแจก 1 แสน ผมก็แจก 5 แสนบาท คือแจกกันไปโดยอาศัยเงินกู้หนี้สาธารณะอย่างนี้ มันทำให้เกิดความเสี่ยงต่อฐานะการคลัง แล้วถ้าหากว่าเราแจกกันเพราะว่าเราต้องการตัวเลขจีดีพีสูงขึ้นเท่านั้นเอง อันนี้ผมก็ว่าน่าเป็นห่วง”
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “ธีระชัย” กล่าวอีกว่า วันนี้เศรษฐกิจใหญ่ๆของโลกชะลอการเติบโตลง และมีการพูดถึงพายุเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบกำลังตั้งเค้ามา ดังนั้นก็อยากให้รัฐบาลชะลอการแจกเงิน Digital Wallet ออกไปก่อน เพื่อที่จะรอดูสถานการณ์ก่อนที่จะออกมาในจังหวะที่ถูกต้อง
“ผมเองมีความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจภายนอก ผมเองมีข้อกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯก็ดี เศรษฐกิจยุโรปก็ดีเวลานี้มันกำลังอ่อนตัว รวมไปถึงเศรษฐกิจของจีนด้วย ส่วนธุรกิจญี่ปุ่นก็ยังไม่ฟื้นอะไร เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจใหญ่ๆของโลกในเวลานี้ มันกำลังแสดงอาการชะลอตัวอย่างชัดเจน มีคนวิจารณ์ว่ามันเข้าลักษณะที่เราเรียกว่าพายุเศรษฐกิจสมบูรณ์แบบกำลังตั้งเค้า เฆมที่ตั้งเค้าขึ้นมา เพราะฉะนั้นแทนที่จะมาเตรียมแผนการจ่ายเงินตั้งแต่วันนี้ ผมยังคิดอยู่ในใจว่าถ้ารัฐบาลสงวนการใช้จ่ายนี้เอาไว้ แล้วก็คอยดูสถานการณ์ในปีนี้ปีหน้า ว่ามันออกมาในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการดำเนินงานของประเทศยแค่ไหนอย่างไร แล้วถ้าจำเป็นก็ค่อยไปใช้เงินในขณะนั้น ผมว่าน่าจะเข้าท่ากว่า”
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการขับเคลื่อนนโยบาย Digital Wallet แจกเงินหมื่นของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขยับย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นซึ่งยึดโยงกับตลาดหุ้นรวมถึงเศรษฐกิจปากท้อง โดยมีแบรนด์ “เพื่อไทย” เป็นเดิมพันนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews