Home
|
ข่าว

“เศรษฐา” ไม่ขลัง-ค่าไฟหมดโปร

 

 

 

 

นอกจากจะมีประเด็นร้อนรายล้อมจากสารพัดปัญหา “หน้างาน” จนถึงกับออกปากว่ากดดันกับการผลักดันนโยบายต่างๆที่ยังไม่เห็นเนื้อเห็นหนัง โดยเฉพาะ “แจกหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต”

 

 

 

 

 

 

ที่ไปไหนก็โดนชาวบ้านทวงเงินหมื่น แต่ต้นทางการจัดการให้โครงการนี้ยังไม่ไปถึงไหน แม้ “นายกนิด” จะกำชับ “รมช.คลัง” “จุลพันธ์” ตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วให้ส่งกฤษฎีกาตีความ ร่าง พรบ.กู้มาแจก ในวีคนี้ แต่จนมาวันนี้จะสิ้นสัปดาห์ก็ยังเงียบ ไม่ต่างจากนโยบายแก้ปัญหา “หนี้นอกระบบ” ที่นายกฯเคยประกาศไว้ว่าจะเป็น “ข่าวใหญ่”

 

 

 

 

ในสัปดาห์นี้ แต่ถูกเรื่อง “หมูเด้ง” ย้ายอธิบดีDSI ที่ไปบุก “ห้างใหญ่” มากลบซะก่อนจนกลายเป็น “ข่าวเล็ก” เช่นเดียวกับประเด็น “ค่าไฟฟ้า” ที่กลับมาเป็น “ข่าวใหญ่” ขนานกันไปกับข่าวครบ100วัน“คนชั้น14” ในวันนี้ (30พ.ย.) ในอารมณ์เหมือน “แดจาวู” เหมือนเคยเกิดขึ้นมาก่อนกับกรณี “ลดราคาน้ำมัน” ที่รัฐบาล มีมติครม.ให้ลดราคา แต่คล้อยหลังไม่กี่วันผู้ประกอบการมีการประกาศขึ้นราคาสวนทาง จน “รมต.พีรพันธ์” ต้องออกมาโวย

 

 

 

 

โดยกรณี “ค่าไฟฟ้า” ที่ทำเอา “นายกเศรษฐา” ถึงกับร้องโอ๊ยรับไมได้ ที่จู่ๆ เมื่อวาน (29พ.ย.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศเปรี้ยงขึ้นค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.67 ในอัตรา 4.68 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)จาก3บาทกว่าต่อหน่วย โดยบอกว่าเป็นการปรับให้สะท้อนกับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นและคืนทุนค่าเชื้อเพลิงที่

 

 

 

 

กฟผ.รับภาระไว้บางส่วน ที่หากจำได้ “รัฐบาลเศรษฐา” เพิ่งประกาศลดราคาค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเรื่องค่าครองชีพ ไปเมื่อเดือน ก.ย. โดยครั้งนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบปรับลดค่าไฟฟ้างวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 เป็นครั้งที่ 2 จาก 4.10 บาทต่อหน่วย ลดลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย

 

 

 

 

ที่ประเด็นนี้ เมื่อนักข่าวไปถาม “นายกฯนิด” ระหว่างกำลังแอ่วเมืองเหนือ ก็ตอบทันทีว่า รับไม่ได้ สูงเกินไปในฐานะประธานจะเรียกประชุมและคิดว่ารับไม่ได้เพราะสูงเกินไปเยอะ และไม่ยอม ส่วนจะมีมาตรการต่อเนื่องที่มีการประกาศลดราคาไปแล้วและจะลดต่อไปหรือไม่ ต้องไปนั่งดูก่อนเนื่องจากเป็นเรื่องของงบประมาณ แต่ขึ้นไปสูงเป็น 4.68 บาทรับไม่ไหว  ซึ่งแนวโน้มอาจจะขึ้นจาก 3.99 บาทที่เราบอกไว้ แต่คงไม่ถึง 4.68 บาท ส่วนจะต้องมีการรื้อโครงสร้างพลังงานเลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็คงเป็นจุดหนึ่งที่ต้องมีการพูดคุยกัน

 

 

 

 

 

เรียกว่าประเด็น “ขึ้นค่าไฟ” ที่สวนทางกับ นโยบายลดค่าไฟของรัฐบาล เป็นอีกช็อตปัญหา จาก นโยบายหรือมาตรการรัฐบาลที่ถูกมอง ทั้งในมิติปัญหาการบริหารจัดการการประสานงาน และความชัดเจน ที่ “ฝ่ายเกี่ยวข้อง” ไม่ได้ดำเนินการตามที่“นายกฯ” สั่งการหรือถึงขนาดเป็นมติ ครม. ไม่นับรวมกับปม “หมูเถื่อน” ที่ “นายกเศรษฐา” เคยหงุดหงิดกับ “อธิบดีDSI”ที่ไม่เร่งสาวถึงต้นตอ “รายใหญ่” ขบวนการหมูเถื่อน จนเมื่อมีการสาวไปถึง “รายใหญ่” จริงๆ แต่กลายเป็นวันรุ่งขึ้น “อธิบดีDSI” กลายเป็น “หมูเด้ง” ถูกโยกย้ายเป็น “รองปลัด”

 

 

 

 

 

ที่ทั้งหมด ยังไม่นับรวมร่องรอยการจัดการที่ “ฝ่ายการเมือง” ไปกระทบชิ่งเฉี่ยวกับ “ฝ่ายข้าราชการ” จนเกิดท่าที อย่างกรณี“ดิจิทัลวอลเล็ต” อย่างที่เห็นผ่านอาการของ “ผู้ว่าแบงก์ชาติ” “เลขาสภาพัฒน์” หรือ “เลขากฤษฎีกา” ที่ออกมาในท่วงทำนองทั้งการแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย และการแจ้งข้อมูลตัวเลขที่ขัดแย้งและอาจมีปัญหากับนโยบาย ที่ทั้งหมดถูกระบุ มาจากปัญหาความไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้นแต่ประกาศเป็น “ข่าวใหญ่” ไปก่อน แต่พอมาดู “ไส้ใน” ยังมีปัญหาวิธีการ และปัญหาข้อกฎหมาย จนทำให้รัฐบาลอยู่ในอาการ “จะกลับไม่ได้ไปต่อไม่เป็น” ต้องมาส่งให้กฤษฎีกาไปดูอย่างที่ปรากฏ

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube