Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

หุ้นไทยปีเถาะฝรั่งเมิน ผลตอบแทนแย่สุดอันดับ 3

น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งกับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความแกร่งและความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจไทย ซึ่งในปี 2566 มีปัจจัยแวดล้อมมากมายที่เข้ามากระทบ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมืองที่มีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาล “ลุงตู่” สู่รัฐบาล “เศรษฐา”

 

 

 

โดยมีเป้าหมายใหญ่คือการแจกเงินหมื่น ดิจิทัล วอลเล็ต ผ่านการออกพ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ที่จะเข้าสภาต่อจาก พ.ร.บ.งบปี 2567 เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย อีกทั้งปี 2566 ยังมีปัจจัยเรื่องอัตราดอกเบี้ยเฟดที่เข้ามากดดัน รวมทั้งปัญหาในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ประเด็นความตึงเครียดของสงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส การโจมตีของกลุ่มกบฏฮูตีในทะเลแดง เป็นต้น

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยปีเถาะ ปิดตลาดส่งท้ายปี 2566 ยืนเหนือ 1,400 จุด แตะที่ระดับ 1,415.85 จุด เพิ่มขึ้น 5.42 จุด มูลค่าการซื้อขาย 47,801.77 ล้านบาท

 

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบีเคย์เฮียน สรุปภาพรวมหุ้นไทยปี 2566 พบว่า ดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนแย่สุดอันดับ 3 ในเอเชีย ปรับตัวลดลง 15.48% รองจากดัชนี CSI300 ของจีน ที่ลดลง 17.50% และดัชนี Hang Seng ของฮ่องกง ลดลง 16.79%

 

ส่วนภาพรวมกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนดีสุด 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1) บริการเฉพาะกิจ เพิ่มขึ้น 36.09% อันดับ 2) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้น 7.60% อันดับ 3) เหมืองแร่ 0.00% อันดับ 4) กลุ่มธนาคาร ลดลง 3.40% และอันดับ 5) แฟชั่น ลดลง 7.11%

 

ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมที่ให้ผลตอบแทนแย่สุด 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1) วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร ลดลง 38.85% อันดับ 2) บรรจุภัณฑ์ ลดลง 35.31% อันดับ 3) สื่อและสิ่งพิมพ์ ลดลง 34.80% อันดับ 4) ประกันภัยและประกันชีวิต ลดลง 30.61% และ อันดับ 5) เงินทุนและหลักทรัพย์ ลดลง 29.82%

 

ขณะที่ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ มองทิศทาง Fund flow ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ประเมินว่าจะยังไม่มีการไหลเข้ามามากนัก เนื่องจากหากพิจารณาจากมาตรวัด Earning yield gap ล่าสุด จะพบว่าแม้ขึ้นมาจากระดับตํ่าสุดแล้วจากเหตุการณ์ Peak yield ในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันก็ถือว่ายังคงห่างไกลจากระดับค่าเฉลี่ยอยู่พอสมควร ทําให้ภาพของตลาดหุ้นไทยยังไม่น่าจะอยู่ในเรดาร์ของนักลงทุนต่างประเทศเหมือนเช่นเคย

 

ซึ่งเมื่อมารวมกับสภาพคล่องภายในประเทศที่ประเมินว่ายังไม่น่าจะกลับเข้ามาในช่วงไตรมาสแรก จึงเป็นเหตุผลสําคัญที่ทําให้ประเมินว่าสภาพคล่องโดยรวมของตลาดหุ้นไทยจะยังอยู่ในระดับที่เป็นกลางต่อไปในช่วง 3 เดือนแรกของปี หากจะมีจุดเปลี่ยนใดๆเกิดขึ้น คงจะต้องคาดหวังการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของ Fed ไปในทิศทาง Dovish ที่รวดเร็วมากขึ้น หรือ การปรับเพิ่มประมาณการกําไรของบ้านเราอย่างมีนัยสําคัญ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 แต่อย่างใด

 

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินตลาดหุ้นไทยสัปดาห์แรกของปี 2567 ระหว่างวันที่ 2-5 ม.ค. ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,400 และ 1,380 จุด แนวต้านอยู่ที่ 1,430 และ 1,450 จุด

 

จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแพคเกจใหญ่ของรัฐบาลเศรษฐาอย่างใกล้ชิด เพราะทุกการขยับ ทุกการสนับสนุน นั่นหมายถึงแรงส่งสำคัญในการขับเคลื่อนราคาหุ้นไทยนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube