27 อ่างเก็บน้ำโคราช เหลือน้ำใช้การแค่ 53 เปอร์เซ็นต์ ระดมสูบส่งน้ำดิบเติมลงสระผลิตประปา สำรองไว้ใช้หน้าแล้ง
(29 มกราคม 2567) โครงการชลประทานนครราชสีมา โดยนายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการฯ ได้รายงานสถานการณ์น้ำเก็บกักในจังหวัดนครราชสีมา ต่อศูนย์บัญชาการ(ศบก.)จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ว่า สภาพน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง และขนาดกลางอีก 23 แห่ง มีระดับน้ำเก็บกักลดลงอย่างรวดเร็ว และในห้วงที่ผ่านมา ไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำลงอ่างฯ เลย ซึ่งเป็นผลมาจากจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้ฝนตกอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าปกติ ทำให้ปริมาตรน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำทั้ง 27 แห่ง คงเหลือเฉลี่ยอยู่ที่ 676.74 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 55.62 % และเป็นน้ำใช้การได้ 614.26 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 53.22 % เท่านั้นของความจุเก็บกักทั้งหมด ซึ่งปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน มีน้ำคงเหลือมากกว่า โดยมีน้ำอยู่ที่ 1,124.99 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 92.46 % และเป็นน้ำใช้การได้ 1,062.52 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 92.05 % ของความจุเก็บกัก
ซึ่งเมื่อแยกปริมาตรน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่งของจังหวัด ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว ล่าสุดวันนี้ มีปริมาตรน้ำคงเหลืออยู่ที่ 161.96 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 51.50 % และเป็นน้ำใช้การ 139.24 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 47.72 % เท่านั้น ส่วนอ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีปริมาตรน้ำอยู่ที่ 102.40 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 66.07 % และเป็นน้ำใช้การ 101.68 ล้านลูกบาศก์เมตร 65.91 % , อ่างเก็บน้ำมูลบน อ.ครบุรี มีปริมาตรน้ำเหลืออยู่ที่ 80.46 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 57.07 % และเป็นน้ำใช้การ 73.46 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 54.82 % และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาตรน้ำเหลืออยู่ที่ 141.74 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 51.54 % และเป็นน้ำใช้การ 134.74 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 50.28 %
ในขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 23 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 190.17 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 57.41 % และเป็นน้ำใช้การได้ 165.13 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 53.93 % ซึ่งในจำนวนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง มี 7 แห่ง ที่มีปริมาตรน้ำคงเหลือ 80-100%
ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยยาง อ.ปักธงชัย ,อ่างเก็บน้ำลำเชียงสา อ.วังน้ำเขียว ,อ่างเก็บน้ำสันกำแพง อ.วังน้ำเขียว ,อ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อ อ.คง ,อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเค็ม อ.บัวใหญ่ ,อ่างเก็บน้ำห้วยยางพะไล อ.แก้งสนามนาง และอ่างเก็บน้ำห้วยเพลียก อ.ครบุรี แต่มี 1 แห่งที่มีปริมาตรน้ำเก็บกักเหลือน้อยกว่า 30 % ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยปราสาทใหญ่ อ.ด่านขุนทด
ส่วนลักษณะอากาศในช่วงวันที่ 26-30 มกราคม 2567 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง คาดการณ์ ว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง และอุณหภูมิลดลง 1-3 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองบางแห่งเกิดขึ้นได้ ซึ่งในช่วงวันที่ 28 – 30 มกราคม 2567 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้จะมีกำลังอ่อนลง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 – 3 องศาเซลเซียส แต่ยังคงมีอากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า โดยคาดการณ์ว่า เอลนีโญจะเริ่มอ่อนกำลังลงเป็นปานกลางในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และอยู่ในสภาวะอ่อนในช่วงมีนาคมถึงพฤษภาคม ซึ่งลักษณะอากาศดังกล่าว จะทำให้มีฝนตกในฤดูฝนตามปกติ โดยจะเริ่มมีฝนหรือมีพายุฤดูร้อนตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม เป็นต้นไป
ซึ่งนายกฤษฏิ์ พูนเกษม หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชีมา เปิดเผยว่า ในช่วงปลายฤดูฝนปี 2566 ที่ผ่านมา จังหวัดนครราชสีมาได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ภาวะฝนแล้ง ด้านพืช ช่วงเวลาเกิดภัย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 14 พฤศจิกายน 2566 รวม 9 อำเภอ 51 ตำบล 461 หมู่บ้าน ได้แก่ อ.เมืองยาง ,ชุมพวง ,พระทองคำ ,ขามสะแกแสง ,ด่านขุนทด ,เทพารักษ์ ,โนนสูง ,คง และ อ.ประทาย โดยมีพื้นที่เกษตรได้รับความเสียหาย เป็นนาข้าว 176,999 ไร่
และพืชไร่/พืชผัก 17,768 ไร่ ซึ่งกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือฯ ไม่เกินวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยให้อำเภอเร่งรัดดำเนินการประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอำเภอ หรือ ก.ช.ภ.อ. และให้ความช่วยเหลือตามระยะเวลาที่กำหนด
ขณะเดียวกัน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดนครราชสีมา และศูนย์ ปภ.เขต 5 นครราชสีมา ได้ให้เจ้าหน้าที่ส่วนสนับสนุนทรัพยากรกู้ภัยพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย นำชุดรถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยไปให้การสนับสนุนสูบส่งน้ำระยะไกลจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ไปกักเก็บไว้ในสระน้ำผลิตประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ที่ร้องขอ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2566 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 24 มกราคม 2567 ได้ดำเนินการสูบน้ำสำรองเพื่อแก้ไขปัญหาภัยภัยแล้ง ปี 2566/2567 ตามที่ท้องถิ่น 15 แห่งร้องขอ คือพื้นที่ อ.โนนไทย ,ด่านขุนทด ,พระทองคำ ,โนนสูง ,ขามสะแกแสง ,ชุมพวง ,สีคิ้ว และ อ.ปักธงชัย โดยมี 13 แห่งสูบส่งน้ำไปเก็บสำรองเสร็จแล้ว และยังมีอีก 2 พื้นที่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ จึงขอความร่วมมือประชาชนทุกพื้นที่ได้ใช้น้ำอย่างประหยัด รู้คุณค่า เร่งเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในครัวเรือนด้วย เพื่อป้องกันปัญหาขาดแคลนน้ำ
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews