บุกทลายโกดังสินค้าลักลอบนำเข้าจากเวียดนาม
อย. จับมือ สคบ. ตำรวจไซเบอร์ บุกทลายโกดังสินค้าประเภทอาหารและสมุนไพร ลักลอบนำเข้าจากเวียดนาม กว่า 10, 000ชิ้น
นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวราวุธ ยันต์เจริญ ผู้ช่วยรัฐมนตรี และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข หรือ อย. ปฏิบัติการทลายแหล่งเก็บสินค้าที่ผิดกฎหมาย จับกุมเครือข่ายมิจฉาชีพฉ้อโกงประชาชน หลอกขายสินค้าผิดกฎหมาย โฆษณาเกินจริง ไม่มี อย. ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงหลอกส่งสินค้าเก็บเงินปลายทาง มีประชาชนได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
โดยเข้าตรวจค้นที่บ้านหลังหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จว.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานที่เก็บสินค้าที่ผิดกฎหมายจำนวนมาก จากการตรวจค้นพบ MR.DINH และ MISS THAN สัญชาติเวียดนาม แสดงตนเป็นผู้ดูแลบ้าน และนำเจ้าหน้าที่ตรวจค้น จากการตรวจค้นพบของกลาง ได้แก่ สินค้าผลิตภัณฑ์อาหาร ประเภทนมผง ยี่ห้อ Dreamy Sure และผลิตภัณฑ์อื่นที่เข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย จำนวน 14 รายการ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์อาหาร และ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร จึงได้ตรวจยึดของกลางทั้งหมดกว่า 10,000 ชิ้น
จากการสอบปากคำทั้งสองให้การว่ามีไว้จำหน่ายให้บุคคลทั่วไปผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทางโลกออนไลน์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ MR.DINH และ MISS THAN สัญชาติเวียดนาม ผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว เบื้องต้นว่ากระทำความผิดฐาน “เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นบุคคลต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้” ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง, พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว ม.8 และความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และความผิดอื่นฯ และนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
ด้าน เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบในครั้งนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้าไม่ขออนุญาตทั้งหมด มีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง โดย อย. ได้แจ้งเตือนผู้บริโภคผ่านทางเว็บไซต์ อย. และส่งข้อมูลรายงานให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว เช่น นมผงยี่ห้อ Dreamy sure และ Neysure Gold จึงขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ ไม่มีหลักฐาน หรือผลทดสอบประสิทธิภาพทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน และไม่มีอาหารใดที่มีสรรพคุณรักษาโรคได้ ขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อข้อมูลเท็จโฆษณาเกินจริง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews