Home
|
อาชญากรรม

ผู้ต้องหาหมูเถื่อนมอบตัว DSI เพิ่ม แฉจ่ายส่วยจนท.รัฐ

Featured Image

 

 

 

 

ผู้ต้องหาหมูเถื่อนมอบตัว DSI เพิ่ม พร้อมสารภาพ จ่ายส่วยเจ้าหน้าที่รัฐถ้วนหน้าไม่ต่ำกว่า 20 ราย ตก 2-5 หมื่นบาท หากต้องการนำตู้ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง

 

 

 

วันนี้ (1 มี.ค. 67) ที่ ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 2 ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.ต.ณฐพล ดิษยธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม และในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า สำหรับผลการสอบปากคำผู้ต้องหา 2 ราย คือ นายประกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พี ซี ฟูดส์ เซ็นเตอร์ จำกัด และนายพลภัทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โปรดักส์-มี จำกัด คณะพนักงานสอบสวนค่อนข้างได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประกอบธุรกิจภายในพื้นที่เขตปลอดอากร หรือ Free Zone ว่าดำเนินการอย่างไร เริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ. ใด และเรายังพบบัญชีส่วยที่กลุ่มผู้ต้องหาจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

 

 

 

ซึ่งผู้ต้องหายังไม่ได้ให้การในส่วนนี้ แต่จะต้องเข้าให้การอีกครั้งในวันที่ 28 มี.ค. โดยจะต้องกลับไปรวบรวมพยานเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ เพื่อกลับมาตอบใน 20 ประเด็นที่เหลือ เนื่องจากทางกรมศุลกากรได้ให้ข้อมูลบางอย่างกับดีเอสไอ จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ต้องหาต้องกลับมาชี้แจงให้ครบถ้วน โดยวานนี้ตนสอบปากคำนายประกร จนถึงเวลา 00.00 น. ขณะที่นายพลภัทร สอบปากคำเสร็จสิ้นราว ๆ 21.00 น. และทั้งคู่ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ก่อนได้รับการประกันตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนโดยการวางหลักทรัพย์ จำนวน 200,000 บาท

 

 

 

ทั้งนี้ ยังเหลือผู้ต้องหาอีก 3 ราย ได้แก่ น.ส.ชนิสรา นายกิตติ และนายภูวดล ที่จะต้องเข้ามอบตัวและให้ปากคำ โดยได้รับรายงานว่าในช่วงเช้า เวลา 09.00 น. น.ส.ชนิสรา จะเข้ามอบตัว ส่วนในเวลา 13.00 น. จะเป็นนายกิตติ และนายภูวดล เข้ามอบตัวต่อไป ส่วนการสอบปากคำแก่ผู้ต้องหาที่เหลือก็จะใช้ประเด็นการสอบถามเดียวกันทั้งหมดเพราะ 5 ผู้ต้องหา ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องกับตู้คอนเทเนอร์ที่ตกค้างอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ว่าเหตุใดจึงไม่มีการนำตู้ออกจากท่าเรือฯ

 

 

 

ส่วนบทบาทของนายประกรและนายพลภัทรนั้น พ.ต.ต.ณฐพล ระบุว่า นายประกร มีบทบาทในการทำสินค้าในเขตปลอดอากร (Free Zone) โดยการนำเข้าเนื้อสัตว์ ชิ้นส่วนสัตว์แช่แข็งจากต่างประเทศแล้วนำมาไว้ในพื้นที่ปลอดอากร ก่อนส่งจำหน่ายในประเทศไทย ส่วนนายพลภัทรก็มีบริษัทของตัวเอง แต่ก็มาประกอบธุรกิจร่วมกันกับนายประกร จากนั้นก็มีการขออนุมัติจากกรมศุลกากรเพื่อประกอบธุรกิจ

 

 

 

พ.ต.ต.ณฐพล ระบุอีกว่า สำหรับการจ่ายส่วยของกลุ่มผู้ต้องหา เราพบจากการเข้าตรวจค้นบริษัทของพวกเขาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.67 และแม้ทั้งคู่จะยังไม่ได้ให้การ แต่มีการให้ถ้อยคำสารภาพถึงเรื่องการจะนำตู้ออกจากท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จะต้องมีการจ่ายเป็นเงินสวัสดิการให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐหลายหน่วยงาน ไม่ต่ำกว่า 20 ราย มีทั้งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เจ้าหน้าที่หน่วยงานบริเวณชายแดน

 

 

 

และยังมีนักข่าวท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ และปลัด เป็นต้น โดยดีเอสไอจะต้องไปตรวจสอบว่ารายชื่อที่ปรากฏในบัญชีส่วยเป็นรายชื่อนามสกุลจริง มีตัวตนจริงหรือไม่ หรือว่าถูกแอบอ้างขึ้นมา เพราะมีการพฤติการณ์จ่ายเงินทั้งแบบเงินสดและจ่ายผ่านบัญชีธนาคาร และเราได้ตรวจสอบแล้วว่าเจ้าของบัญชีธนาคารคือใครบ้าง

 

 

 

 

เบื้องต้นพบว่ากลุ่มผู้ต้องหามีการง่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ อัตราเดือนละ 20,000 – 50,000 บาท และยังมีการจ่ายแบบเป็นรายตู้คอนเทเนอร์ ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าเราจะเชิญตัวกลุ่มเจ้าหน้าที่และบุคคลที่ปรากฏชื่อในบัญชีส่วยมาสอบปากคำในฐานะพยานทั้งหมด เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่พวกเขา

 

 

 

พ.ต.ต.ณฐพล ระบุต่อว่า ภายในสัปดาห์นี้คณะพนักงานสอบสวนมีการนัดหมายประชุมกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรถึงเรื่องการรับผิดชอบพื้นที่ปลอดอากร (Free Zone) อีกทั้งภายหลังจากที่คณะพนักงานสอบสวนได้ขยายผลมาอย่างต่อเนื่องในคดีพิเศษที่ 127/2566 จนสามารถออกหมายจับผู้ต้องหา 5 รายดังกล่าวถือว่าเป็นกลุ่มที่ 2 และในคดีนี้เราจะมีกลุ่มผู้ต้องหากลุ่มที่ 3 เพิ่มเติมเข้ามาโดยเป็นกลุ่มใหญ่ เป็นกลุ่มที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ขณะนี้คณะพนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารข้อมูลซึ่งได้ขอจากกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เพื่อที่จะมาดูว่าการนำตู้คอนเทเนอร์ จำนวน 10,000 ตู้ เข้ามาในไทยและนำออกจากท่าเรือฯ มีขั้นตอนอย่างไร

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube