หากพูดถึงอำเภอตากใบในจังหวัดนราธิวาสคงไม่มีใครไม่รู้จักเพราะเป็นหนึ่งอำเภอที่มีชื่อเสียงอย่างมาก แต่หากเอ่ยชื่อถึงเกาะปูลาโต๊ะบีซู ชื่อนี้คงไม่คุ้นหูแม้กระทั่งคนตากใบเองบางคนก็ยังไม่รู้จัก เช่นเดียวกับผศ.ดร.ธมยันตี ประยูรพันธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและนวัตกรรม มนร. ที่รู้จักเกาะนี้โดยบังเอิญ จากการใช้นักศึกษาไปซื้อกาแฟที่เซเว่นอีเลฟเว่นแต่นักศึกษาหายไปกว่า 2 ชั่วโมงเพราะไม่รู้จักเซเว่น
ผศ.ดร.ธมยันตี เกิดความสงสัยจึงได้สอบถามว่านักศึกษาคนดังกล่าวบ้านอยู่ที่ใดทำไมถึงไม่รู้จักเซเว่น และมีการพูดคุยกันจนได้คำตอบมาว่า อยู่ที่เกาะปูลาโต๊ะบีซู ซึ่งเป็นเกาะในต.ศาลาใหม่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แต่การเดินทางต้องนั่งเรือเข้าเพียงอย่างเดียวใช้เวลาประมาณ 5-10 นาที ระยะห่างจากฝั่งประมาณ 500 เมตร จากนั้นตนจึงลงพื้นที่และได้เห็นสภาพความเป็นอยู่บนเกาะ
ผศ.ดร.ธมยันตี ได้มาเห็นวิถีชีวิตและพูดคุยกับชาวบ้านจึงกลับไปคิดหาโครงการเพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวโดยใช้เวลากว่า 1 ปี จึงเกิดเป็นโครงการวิจัยการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่
สำหรับชาวบ้าน 130 ครัวเรือนจำนวนประมาณ 800 คนที่ อาศัยบนเกาะปูลาโต๊ะบีซู ประกอบอาชีพประมง ควบคู่กับการขายแรงงาน มีลักษณะความเป็นอยู่เป็นชุมชนปิด ขาดการติดต่อเชื่อมโยงกับโลกภายนอก ต้องใช้ชีวิตแบบแร้นแค้น โดยปราศจากน้ำจืด และต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้ยืมจากผู้มีอุปการคุณในยามขัดสนขาดแคลน ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถออกเรือไปทำการประมง ส่งผลให้ทุกคนทุกครัวเรือนบนเกาะล้วนมีความยากจน ถือบัตรสวัสดิการ
แห่งรัฐ หรือบัตรคนจน และมีปัญหาหนี้สินเรื้อรัง
คณะวิจัยจึงได้ลงสำรวจเก็บข้อมูลบนเกาะอย่างละเอียด และออกแบบกระบวนการ แก้ไขความยากจนและปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ด้วยการพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการสินค้าประมงแก่ชาวเกาะ เพื่อช่วยแก้ไขความยากจน ปลดปัญหาหนี้สิน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการ พูดคุยของความร่วมมือจากผู้มีอุปการคุณที่เป็นแหล่งเงินแก่ชาวเกาะ ผ่อนปรนให้ชาวเกาะนำสินค้าประมงบางส่วนมาแปรรูปแล้วรวมกลุ่มกันจำหน่าย
แทนการต้องนำสินค้าประมงทั้งหมดไปส่งมอบให้เพื่อลดหนี้ ซึ่ง ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้มีอุปการคุณที่เป็นแหล่งเงินทุกราย
ด้านนางซูไบด๊ะ บือราเฮง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านปูลาโต๊ะบีซู ได้เผยความในใจว่า ชุดความรู้และกระบวนการจัดการ ตลอดจนการ ส่งเสริมสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเกาะหัวใจเกื้อกูล ที่คณะวิจัยถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านบนเกาะ ช่วยให้ชาวบ้านบนเกาะมีหนี้สินลดลง และชาวบ้านบางครัวเรือนสามารถปลดหนี้ได้ อีกทั้งยังดึงดูดให้ชาวบ้าน ที่อพยพไปขายแรงงานในประเทศเพื่อนบ้านกลับคืนสู่ภูมิลำเนา
ขณะเดียวกันตำบลบูกิต อำเภอเจาะไอร้อง ก็เป็นอีกหนึ่งอำเภอที่พบปัญหาเรื่องการจัดการวัตถุดิบ โดยพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนประสบปัญหาทุเรียนกวนคุณภาพต่ำมีอายุการเก็บรักษาสั้น ทำให้ขายไม่ได้ราคา อีกทั้งยังขาดทักษะการจัดการ
ทีมวิจัยจึงได้ดำเนินกระบวนการวิจัยและพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาอยู่ที่กรรมวิธีการคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพ และกระบวนการผลิตทุเรียนกวนที่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจนการบริหารจัดการ จึงได้พัฒนาชุดความรู้ถ่ายทอดแก่กลุ่มผู้ประกอบการฯ โดยสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่
หัวใจสำคัญของการผลิตทุเรียนกวนคุณภาพ ที่จะช่วยให้ขายได้ราคาดี เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกเนื้อทุเรียนที่ดี ปราศจากการปนเปื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งทีมวิจัยได้ถ่ายทอดชุดความที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ไม่ยาก ด้วยการนำเนื้อทุเรียนไปผ่านกระบวนการนึ่งฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียก่อนนำไปกวน และในขั้นตอนการกวน ต้องกวนให้เหลือความชื้นน้อยที่สุด แล้วนำผึ่งให้เย็น ก่อนจะบรรจุใส่ภาชนะจำหน่าย ภายใต้กระบวนการผลิตดังกล่าวจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ทุเรียนกวนคุณภาพดี เก็บรักษาได้นานขึ้นและขายได้ราคาดีขึ้น
รวมถึงยังได้ถ่ายทอดชุดพัฒนาทักษะการจัดการทางการเงิน และการตลาดทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ แก่กลุ่มผู้ประกอบการฯ และส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการ มีรายได้เพิ่มขึ้น 30% จากการขายทุเรียนกวนดีขึ้น และมีช่องทางการตลาดในการจำหน่ายผลผลิตได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังส่งผลดีต่อกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ดีขึ้นในชุมชนอีกด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews