มอไซค์ หรือมอเตอร์ไซค์ถือเป็นยานพาหนะคู่ใจของใครหลายๆ คน เพราะมาพร้อมความคล่องตัว สามารถขับขี่ได้อย่างอิสระ มูฟได้ง่ายกว่ารถยนต์คันใหญ่ ทั้งยังรวดเร็ว ในช่วงเวลาที่เร่งรีบ ต้องเจอกับการจราจรที่ติดขัด ก็สามารถซิกแซกฝ่ารถติดไปได้ ทำให้หลายๆ คนเลือกที่จะซื้อและใช้มอเตอร์ไซค์เป็นหลัก เรียกได้ว่าสวมวิญญาณเป็นนักบิด หรือนักซิ่งเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ไปทุกๆ ที่เลย แต่มอเตอร์ไซค์เมื่อใช้งานไปนานๆ ก็เหมือนกับร่างกายมนุษย์ที่ประสิทธิภาพการทำงานจะค่อยๆ ลดลง อาจมีอะไหล่หรือบางชิ้นส่วนที่ต้องคอยปรับเปลี่ยนและซ่อมบำรุง มิฉะนั้นรถมอเตอร์ไซค์ของเราอาจไม่สามารถขับขี่ได้อย่างลื่นไหล เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงอาจมีผลต่อการทำธุรกรรมในอนาคตด้วย ในบทความนี้เราเลยขอชวนสายบิด สายซิ่งทุกๆ คน มาตรวจเช็กสภาพรถมอเตอร์ไซค์ส่วนที่สำคัญ เพื่อการขับขี่ปลอดภัย และยืดอายุการใช้งานมอเตอร์ไซค์ให้ได้มากที่สุดกัน!
ตรวจเช็กสภาพรถมอเตอร์ไซค์ ควรตรวจส่วนไหนบ้าง?
สิ่งที่เบสิกในการดูแลรถมอเตอร์ไซค์ให้มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุด ดูเหมือนใหม่ พร้อมใช้งานตลอดเวลา นอกจากจะหมั่นล้างมอเตอร์ไซค์ พามอเตอร์ไซค์คู่ใจเข้าคาร์แคร์ไปกำจัดสิ่งสกปรกและคราบต่างๆ ออกแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับส่วนอะไหล่ต่างๆ ของรถมอเตอร์ไซค์ด้วย ซึ่งขอบอกว่าแต่ละส่วนสามารถตรวจเช็กได้ไม่ยากอย่างที่คิด จะมีส่วนไหนบ้าง ไปดูพร้อมกันตามนี้เลย
1) ตรวจเช็กยางรถมอเตอร์ไซค์
ยางรถมอเตอร์ไซค์ เรียกได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของรถมอเตอร์ไซค์ในด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการขับขี่ ทำหน้าที่ถ่ายทอดกำลังของเครื่องยนต์สู่ท้องถนน รองรับน้ำหนัก เกาะยึดติดกับถนน รวมถึงเพิ่มความสามารถในการเบรกด้วย โดยควรตรวจเช็กทั้งยางนอกและยางใน อาจใช้มือหรือวัตถุแข็งลองแตะที่ตัวยางว่ามีความแน่น หรือนิ่มเกินไปหรือ เพราะตัวยางรถมอเตอร์ไซค์ที่ดีจะต้องมีความแข็งแบบพอดี ทางที่ดีที่สุดควรใช้เครื่องมือตรวจวัดลมยางอย่าง “เกจวัดลมยาง” โดยเสียบเกจวัดลมยางเข้ากับจุกลมยาง แล้วอ่านค่า PSI หากค่า PSI < 28 PSI สำหรับยางหน้า หรือ 30 PSI สำหรับยางหลัง แสดงว่าลมยางอ่อนเกินไป หากค่า PSI > 36 PSI สำหรับยางหน้า หรือ 38 PSI สำหรับยางหลังแสดงว่าลมยางแข็งเกินไป ในส่วนของการเติมลมยางมอเตอร์ไซค์ให้มีประสิทธิภาพการใช้งานสูงสุด มีดังนี้
– ควรเติมลมยางให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำทุกสัปดาห์ หรืออย่างน้อยเดือนละครั้ง
– ควรเติมลมยางขณะที่ยางเย็นอยู่ ไม่ควรเติมลมยางในขณะที่เพิ่งผ่านการขับขี่หรือติดเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ เพราะอุณหภูมิของยางจะส่งผลต่อปริมาณลมยาง
– ควรเติมลมยางให้พอดี ไม่แน่นเกินไป และไม่หลวมเกินไป (อ่านค่าตามเครื่องมือเกจวัดลมยาง)
2) ตรวจเช็กน้ำมันเครื่องมอเตอร์ไซค์
เครื่องยนต์จะขาดน้ำมันมอเตอร์ไซค์คงเป็นไปไม่ได้ โดยมอเตอร์ไซค์นั้นต้องใช้น้ำมันเครื่องเพื่อบูสต์การทำงานของเครื่องยนต์ ลดการสึกกร่อนและการเสียดสีของเครื่องยนต์ขณะเคลื่อนที่ เสริมความทนทานของเครื่องยนต์ พร้อมเพิ่มอายุการใช้งานของมอเตอร์ไซค์ให้ดีมากยิ่งขึ้น และเมื่อใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไปนานๆ น้ำมันเครื่องก็ต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายอย่างสม่ำเสมอ ตามระยะที่และรถมอเตอร์ไซค์แต่ละยี่ห้อกำหนด เช่น น้ำมันเครื่องมอเตอร์ไซค์ ครั้งแรกสำหรับรถใหม่อาจเป็น 1,000 กม. ครั้งต่อไปทุกๆ 4,000 – 6,000 กม. เป็นต้น (ตรวจสอบในคู่มือแต่ละยี่ห้ออีกครั้ง) สำหรับวิธีการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องด้วยตนเอง คือ
– ถอดปลั๊กท่อระบายด้านล่างสุดของอ่างน้ำมันเครื่อง และปล่อยให้น้ำมันเก่าไหลลงสู่ภาชนะรองจนหมด ตรวจดูว่าแหวนรองปลั๊กท่อระบายอยู่ในสภาพดี จากนั้นใส่ปลั๊กท่อระบายกลับเข้าที่ให้เรียบร้อยดังเดิม
– ถอดตัวกรองเก่าออกแล้วค่อยๆ ขันตัวกรองอันใหม่ใส่ให้เข้าที่ นำตัวกรองเก่าไปทิ้ง พร้อมทำความสะอาดด้วยผ้า ไม่ให้มีคราบน้ำมันเครื่องเกาะติดอยู่
3) ตรวจเช็กไส้กรองอากาศ
การทำงานของไส้กรองอากาศของมอเตอร์ไซค์ก็มีหลักการทำงานคล้ายๆ ของรถยนต์และเครื่องปรับอากาศเลย โดยทำหน้าที่เป็นสิ่งสกัดกั้นเศษฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกต่างๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายของเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ ลดการเสื่อมสภาพของชิ้นส่วนภายใน เช่น ลูกสูบ ทั้งนี้ในการดูแลและตรวจเช็กให้ไส้กรองอากาศมีความเรียบร้อย อาจต้องดูที่ชนิดไส้กรองของรถมอเตอร์ไซค์แต่ละคัน หากเป็นไส้กรองชนิดกระดาษ เราสามารถเคาะๆ เพื่อเอาฝุ่นละอองออก หากเป็นไส้กรองชนิดฟองน้ำ เราจะต้องทำการล้างในตัวทำละลายหรือน้ำมันเบนซิน แล้ววางให้แห้งและนำมาชุบน้ำมันเครื่องให้ซึมทั่วไส้กรองอีกครั้ง แต่หากไส้กรองสกปรกมาก มีคราบดำติดเยอะ รวมถึงมีการชำรุด ควรเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดทันที
4) ตรวจเช็กหัวเทียน
มอเตอร์ไซค์กับหัวเทียน (Spark Plug) เป็นของคู่กัน แม้จะเป็นอะไหล่เล็กๆ แต่มีหน้าที่สำคัญคือช่วยสร้างประกายไฟสำหรับจุดระเบิดในห้องเผาไหม้ที่มีกระบอกสูบของไอน้ำมันและอากาศ ทำให้เครื่องยนต์สตาร์ตติดง่าย ทั้งยังช่วยบูสต์เครื่องให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อใช้งานไปนานๆ หัวเทียนจะเริ่มชำรุดและสึกหรอ มีระยะห่างระหว่างเขี้ยวหัวเทียนไม่ถูกต้อง สิ่งที่นักบิดและนักซิ่งที่มีมอเตอร์ไซค์ควรทำ คือ การวัดระยะห่างระหว่างเขี้ยวหัวเทียนโดยใช้ฟีลเลอร์เกจ และปรับตั้งที่เขี้ยวหัวเทียนให้มีระยะเหมาะสม นอกจากนี้ หากพบว่ามีเขม่าหรือสิ่งสกปรกติดอยู่ที่ปลายหัวเทียน และพบความสึกกร่อน เนื่องจากการจุดระเบิด เราจะต้องทำการเปลี่ยนหัวเทียนใหม่
5) ตรวจเช็กโซ่หรือสายพานรถมอเตอร์ไซค์
โซ่และสายพานมอเตอร์ไซค์นั้น เป็นชิ้นส่วนและอะไหล่สำคัญที่ทำให้รถมอเตอร์ไซค์สามารถขับเคลื่อนไปได้ โดยสายพานนั้นทำมาสำหรับรถมอเตอร์ไซค์แบบ Automatic หรือที่เรียกว่ารถเกียร์ออโต้ ในขณะที่โซ่นั้นใช้สำหรับรถเกียร์ธรรมดา โดยทั้งสายพานและโซ่นั้นมีการเคลื่อนไหวเป็นลูปต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์รถมอเตอร์ไซค์กำลังทำงาน หรือขับขี่อยู่นั่นเอง
การเปลี่ยนสายพานรถยนต์
ในส่วนของการตรวจเช็กสภาพของสายพานนั้น จำเป็นจะต้องมีการตรวจสายพานในระยะ 1,000 กิโลเมตรในครั้งแรก และตรวจเช็กทุกๆ 4,000 กม. หลังจากนั้นให้เปลี่ยนสายพานเมื่อใช้งานถึง 24,000 กม. หากไม่มีการชำรุดเสียหาย (ตามที่กำหนดไว้ในคู่มือ)
สำหรับวิธีการเปลี่ยน เราสามารถเปิดฝาครอบแคร้งสายพานออก ทำการถอดชิ้นส่วนต่างๆ ตรวจสอบเสื้อคลัตช์และผ้าคลัตช์ และตรวจสอบว่าตัวสายพานจะต้องไม่มีคราบจาระบี น้ำมันหล่อลื่น หรือสารที่จะทำให้สายพานลื่นได้ เพราะจะทำให้ระบบขับเคลื่อนของมอเตอร์ไซค์เสียหาย ให้เราตรวจสอบให้ละเอียดและทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนใส่กลับเข้าไปเหมือนเดิม
การเปลี่ยนโซ่รถยนต์
ส่วนโซ่รถยนต์จะต้องตรวจเช็กความตึงของโซ่ โดยมากอยู่ที่ 30 มม. (แต่ควรเช็กอีกครั้งที่คู่มือคู่ของรถมอเตอร์ไซค์) โดยควรจัดการปรับตั้งโซ่ให้ตึงโดยใช้ตัวตั้งโซ่ที่แกนหมุน
– วัดความหย่อนของโซ่ทึ่จุดกึ่งกลางระหว่างสเตอร์ของโซ่เส้นล่าง
– ต้องการปรับตั้งความตึงของโซ่ ให้คลายน็อตแกนล้อหลัง
– ใช้ตัวตั้งโซ่ที่แกนหมุนเพื่อปรับตั้งความตึงของโซ่ ปรับตั้งทั้งสองด้านให้เท่ากัน
– ตรวจดูว่าขีดบอกระดับตรงสวิงอาร์มต้องเสมอกันทั้งสองด้าน แล้วไขน็อตแกนล้อหลังให้แน่นมากที่สุด
6) ตรวจเช็กแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์
แบตเตอรี่เป็นหัวใจหลักของการสตาร์ตมอเตอร์ไซค์ เป็นอุปกรณ์จัดเก็บไฟฟ้าที่ใช้ในการเก็บพลังงานไฟฟ้าโดยใช้ปฏิกิริยาเคมีแบบย้อนกลับได้รัหว่างตะกั่วและกรดในแบตเตอรี่ มีหน้าที่จ่ายพลังงานกระแสตรงไปยังระบบต่างๆของมอเตอร์ไซค์ ก่อนใช้งานรถทุกๆ ครั้ง เราควรตรวจดูสภาพของแบตเตอรี่ว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ เช็กคราบสิ่งสกปรก คราบขี้เกลือที่อยู่บริเวณขั้วแบตเตอรี่ หากพบให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดออกให้หมดจด นอกจากนี้ หากใครที่มีเครื่องวัดประจุไฟฟ้าติดอยู่ที่บ้าน แนะนำให้นำมาเช็กพลังงานของแบตเตอรี่ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมสำหรับการเดินทางเสมอก่อนบิดออกสู่ท้องถนนด้วย และสิ่งสำคัญคือเราต้องทราบว่าแบตเตอรี่ของรถมอเตอร์ไซค์เรานั้นเป็นประเภทไหน แบบลิเธียม แบบแห้ง หรือแบบน้ำที่ต้องเติมน้ำกลั่น เพื่อการดูแลที่ถูกต้องนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างกับวิธีตรวจเช็กสภาพรถมอเตอร์ไซค์เบื้องต้นส่วนหนึ่งที่เรานำมาฝากเหล่านัดบิด นักซิ่งที่รักการขับขี่มอเตอร์ไซค์กัน เพราะรถมอเตอร์ไซค์ หากอยากให้รถยนต์ของเราสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สามารถขับขี่ได้อย่าลื่นไหล ก็อย่าลืมที่จะหมั่นตรวจเช็กรถมอเตอร์คู่ใจของเราอย่างสม่ำเสมอเลยเด็ดขาด ซึ่งนอกจากจะทำให้รถมอเตอร์ไซค์ใช้งานได้ดี ไม่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติแล้ว มูลค่าของรถมอเตอร์ไซค์เราอาจไม่ตกลงมากด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมต่างๆ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการนำรถมอไซค์เข้าไฟแนนซ์ผ่านธนาคาร จำนำมอไซค์ หรือ Motorcycle Pledge รวมไปถึงการขายรถมอเตอร์ไซค์ต่อด้วย