จับสัญญาณเศรษฐกิจไทย ผ่านผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. วันที่ 10 เมษายนนี้ หลังนายกฯเศรษฐา กระทุ้งให้แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยประชาชนแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย
เกมนี้นักวิชาการมองว่า นายกฯได้เปรียบ เพราะมีแรงหนุนจากประชาชนที่ออกมาร่วมกดดันกนง. ส่งผลให้ความฝันในการลดอัตราดอกเบี้ยวันที่ 10 เมษายนนี้ เป็นจริงได้
โดย “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” นักวิชาการอิสระและอดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน ให้ความเห็นกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า การประชุมกนง.รอบนี้ มีแนวโน้มที่กนง.จะยอมลดอัตราดอกเบี้ย เพราะตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆที่โชว์ออกมา สอดคล้องกับสิ่งที่นายกรัฐมนตรี “นายเศรษฐา ทวีสิน”ได้เคยกล่าวไว้
“มีแนวโน้มว่าอาจจะ กนง.อาจจะยอมลดดอกเบี้ยให้ ผมว่าตัวเลขเศรษฐกิจมันก็บ่งชี้อย่างที่นายกฯพูดถูกในแง่ที่ว่า อัตราเงินเฟ้อต่ำมาก แล้วก็แนวโน้มของตลาดโลกอันนี้ก็ต้องรอดูแต่ว่ามันก็ค่อนข้างชัดเจนเฟดเองหรือธนาคารกลางสหรัฐเองน่าจะมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยลงไปด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นไปได้ว่า กนง.เองก็จะยอมลดลงไปในระดับหนึ่ง” และเมื่อถามว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะลดลงนั้น จะลดได้มากน้อยแค่ไหน โดย “ศ.ดร.พรายพล” กล่าวว่า ก็น่าจะร้อยละ 0.25
“ก็โดยปกติก็ 25 Basis Point อันนี้ก็พูดไม่ได้แน่ เพราะว่าก็ค่อนข้างจะผิดปกติสักนิดนึงในแง่ที่ว่า มีแรงกดดันแต่ว่าตัวดอกเบี้ยเอง 25 Basis Point มันก็ต่ำอยู่แล้วว่าตามจริงในระดับนึง ก็อาจจะลดต่ำน้อยกว่า 25 Basis Point ได้เป็นไปได้ ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน แต่ว่าส่วนใหญมักจะขึ้นและลงที่ 25 Basis Point แต่คราวนี้ก็อาจจะลองดูว่า ลดเล็กน้อยว่าอย่างนั้นดีกว่า นอกจากตามเพซเซอร์ของนายกฯ แล้ว ตัวเลขเองก็อาจจะพอเอื้อได้ในระดับนึง”
แต่อย่างไรก็ตาม การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.25 นั้น “ศ.ดร.พรายพล” บอกว่า ก็คงไม่ได้ช่วยเศรษฐกิจไทยมากสักเท่าไร แต่เป็นผลลัพธ์ในทางจิตวิทยามากกว่า ว่า แบงก์ชาติยอมลดดอกเบี้ยให้
“ผมว่าไม่ค่อยมีผลเท่าไรนะ ก็มีผลแต่เพียงว่าอย่างน้อยดอกเบี้ยเองก็บรรเทาลงได้บ้าง แต่ว่ามันต่ำอยู่แล้วผมคิดว่าลดลงไปอีก มันคงไม่ค่อยได้มีผลบวกหรือลบอะไรมากมายนัก เป็นจิตวิทยาที่จะพอช่วยได้ในระดับนึง เพราะว่าเศรษฐกิจมันก็ค่อนข้างจะชะลอตัวเยอะ เป็นจิตวิทยามากกว่า ผลจริงๆอาจจะมีไม่มากเท่าไร”
นอกจากนี้ “ศ.ดร.พรายพล” ยังได้กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2567 ด้วยว่า ยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการท่องเที่ยวที่ในวันนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งออก ขณะที่งบประมาณปี 2567 ก็ได้ผ่านสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยที่จะมาเม็ดเงินไหลเข้าสู่ระบบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังคงต้องจับตานโยบายแจกเงินหมื่น Digital Wallet ของรัฐบาลเศรษฐาว่า จะสามารถดำเนินการได้เมื่อไร แล้วแหล่งที่มาของงบประมาณจะมาจากที่ใด
“ตอนนี้มันขึ้นอยู่กับว่า เงินจะมาจากแหล่งไหน ถ้ามาจากการกู้โดยออก พรบ.ผมว่าคงเป็นไปได้ยาก เพราะว่าแรงต่อต้านต่างๆ ก็ยังมีอยู่พอสมควร เพราะฉะนั้นกว่าจะผ่านสภาได้ก็คงจะเรียกว่าชุลมุนพอสมควร จะเป็นไปได้ยากเลยด้วยซ้ำไป แต่ว่าถ้าหันมาใช้งบประมาณเงินในงบประมาณเอง เห็นพูดกันถึงว่างบประมาณเป็นงบประมาณปีหน้าจะดึงมาใช้ก่อน อันนี้ก็อาจจะพอมีทางเหมือนกัน แต่ว่ามันจะมีช่องว่างพอที่จะทำให้ใช้เงินให้ถึง 5 แสนล้านหรือเปล่าอันนี้ยังสงสัยกันอยู่ เพราะฉะนั้นโดยสรุปผมคิดว่าก็คงต้องดูรายละเอียดของแหล่งที่มาของเงิน 5 แสนล้าน จะมาจากไหน เผลอๆอาจจะเป็นไปได้ว่าออกมาใช้จ่ายเต็มที่ได้ไม่เกินไม่ถึง 5 แสนล้านด้วยซ้ำไป ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน”
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาผลการประชุม กนง.วันที่ 10 เมษายนอย่างใกล้ชิดว่าจะออกมาในรูปแบบใด รวมถึงความชัดเจนของนโยบายแจกเงินหมื่น Digital Wallet ที่จะมีการประชุมตกผลึกกันในวันที่ 10 เมษายนนี้ด้วยเช่นกัน เพราะล่าสุดนายกฯเศรษฐา ได้กำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ เสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.กู้เงิน, ส่วน กระทรวงพาณิชย์ ก็ให้สรุปหลักเกณฑ์ร้านค้า, ด้านกระทรวง DE และบอร์ดรัฐบาลดิจิทัล สรุปการพัฒนาระบบ และการจัดทำในลักษณะเปิด เพื่อให้สถาบันการเงิน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจเข้าร่วมโครงการ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วางกรอบวินิจฉัยร้องทุกข์กล่าวโทษ และการเรียกเงินคืน ซึ่งทั้งหมดนี้ให้มารายงานในที่ประชุมบอร์ดใหญ่วันที่ 10 เมษายนนี้ด้วยเช่นกัน ก่อนจะนำเข้าสู่ ครม. ภายในเดือนเดียวกัน เพื่อที่เงินจะถึงประชาชนในไตรมาส 4 ปีนี้นั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews